บทบรรณธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. - 1 ก.ค.2563
ภาวะเศรษฐกิจยังดิ่งเหว
เข้าสู่การผ่อนคลายกิจการหรือกิจกรรมกลุ่มเสี่ยงในระยะที่ 5 หลังจากไม่พบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศติดต่อกันกว่า 30 วัน ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะพิจารณาในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และจะเริ่มคลายล็อกได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น แต่เพื่อความไม่ประมาทในการควบคุมโรค จะยังมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ภาคธุรกิจหรือกิจกรรมต่างๆ จะกลับมาดำเนินการได้เกือบจะปกติ ซึ่งจะส่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้นั้น แต่เมื่อเห็นตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ประเมินออกมาในเดือนมิถุนายนนี้ ไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ จากเดิมที่ประเมินไว้ในเดือนมีนาคม จีดีพีทั้งปีติดลบที่ 5.3% มาเป็นติดลบที่ 8.1 % ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ สอดรับการประเมินของสถาบันการเงินหลายแห่งประเมินไปในทิศทงเดียวกัน
การที่ธปท.ยังชี้ให้เห็นถึงจีดีพีปรับตัวลดลงดังกล่าว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไตรมาส 2 ลดลงค่อนข้างมาก จากสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและของไทย ส่งผลต่อการหยุดชะงักของการดำเนินงานในกิจกรรมต่างๆ ที่คาดว่าจีดีพีจะติดลบไปถึง 15% ขณะที่ไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นมาบ้างติดลบราว 9-10 % และไตรมาส 4 ติดลบอยู่ที่ราว 5-6 %
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีรายงาน แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ได้วิเคราะห์แนวโน้ม จีดีพีโลกในปีนี้จะหดตัว 4.9% และประมาณการเศรษฐกิจของไทย คาดว่าจะหดตัวที่อัตรา 7.7% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ว่าได้
เมื่อพิจารณาตัวเลขจีดีพีที่ประมาณการณ์ที่ออกมา ก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งเครื่องยนต์ไม่กี่ตัว และเวลานี้ทุกเครื่องยนต์ดับเกือบหมด ไม่ว่าการบริโภคภายในประเทศ ที่ลดลงจากปัญหาการขาดรายได้ การลงทุนของภาคเอกชนทั้งไทยและต่างชาติหยุดชะงักเกือบหมด จากความไม่แน่นอนของการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่จะกลับมาอีก การส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง เดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 22.5% มูลค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี
ส่วนภาคการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึง ธปท.ประมาณการว่าปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศประมาณ 8 ล้านคน ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ที่ 15 ล้านคน ขณะที่ปีก่อนมีนักท่องเที่ยวถึง 39.8 ล้านคน
เมื่อรัฐบาลเห็นตัวเลขจีดีพีดังกล่าวนี้ พยายามจะเร่งปลุกเครื่องยนต์ที่กล่าวว่า โดยการออกมาตรการต่างๆ เป็นระยะๆ ทั้งการกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท การกระตุ้นเที่ยวในประเทศ ล่าสุดเองกำลังให้แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ส่งรายงานถึงคณะรัฐมนตรี ว่ามีโครงการหรือเม็ดเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน ที่จะเร่งรัดการลงทุนให้เกิดขึ้นได้บ้าง
ดังนั้น คงต้องจับตากันต่อไปช่วงครึ่งปีหลังนี้ ว่าสุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโงหัวขึ้นได้หรือไม่
June 28, 2020 at 09:00AM
https://ift.tt/31swnib
ภาวะเศรษฐกิจยังดิ่งเหว - ฐานเศรษฐกิจ
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ภาวะเศรษฐกิจยังดิ่งเหว - ฐานเศรษฐกิจ"
Post a Comment