กูรูชี้เศรษฐกิจวิกฤติสุดรอบ "150 ปี" ห่วง "เอกชน" ขาดสภาพคล่องหนัก แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาป้อง "จีดีพี" ทรุดยาว-หดตัวลึกกว่าต้มยำกุ้ง ชี้จับตาแรงงานว่างงาน กระทบคุณภาพหนี้
“นักเศรษฐศาสตร์” ฟันธง “วิกฤติโควิด” ทุบเศรษฐกิจไทยหนักสุดเป็นประวัติการณ์ “จีดีพี” หดตัวลึกกว่าต้มยำกุ้ง “ศูนย์วิจัยกสิกร” ห่วงคุณภาพหนี้ พร้อมแนะจับตาปัญหาว่างงาน ด้าน “วิจัยกรุงศรี” เผยเอกชนขาดสภาพคล่องหนักกว่า 1.7 ล้านล้าน แนะรัฐเร่งเติมป้องวิกฤติลากยาว ด้าน “แบงก์กรุงเทพ” ระบุครั้งนี้หนักสุดรอบ 150 ปี ชี้คนกลุ่มล่างอ่วมสุด ขณะ “อีไอซี” ฟันธงเศรษฐกิจฟื้นรูปตัว “ยู” มองวิกฤติครั้งนี้เปิดจุดอ่อนประเทศด้านเทคโนโลยี
หนังสือพิมพ์ "กรุงเทพธุรกิจ" จัดเสวนาโต๊ะกลม (Roundtable) โดยเชิญนักเศรษฐศาสตร์จาก “4 แบงก์ใหญ่” มาร่วมวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจและทิศทางในระยะข้างหน้าเพื่อประเมินว่า เศรษฐกิจไทยบนทาง 2 แพร่ง จะ “ฟุบยาว” หรือ “ฟื้นตัว” ซึ่งบทสรุปของเวทีเสวนาครั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนฟันธงตรงกันว่า วิกฤติโควิดรอบนี้กระทบเศรษฐกิจหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง และอาจใช้เวลายาวนานกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบมากสุดนับแต่วิกฤติปี 2540 ทั้งจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ล่าสุดที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เป็น “ติดลบ” มากถึง 8.1% ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะหดตัวมากกว่านั้นได้อีก โดยในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แม้จะประเมิน GDP ปีนี้ติดลบ 6% แต่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับประมาณการใหม่
อย่างไรก็ตาม วิกฤติในครั้งนี้ หากเทียบกับเมื่อปี 2540 ค่อนข้างจะแตกต่างกัน โดยเฉพาะในภาคธนาคาร ซึ่งปัจจุบันมีความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างทางการเงินดีขึ้นมาก แต่ความเสี่ยงของวิกฤติในครั้งนี้คาดเดาได้ยาก อาทิ เรื่องโอกาสของการแพร่ระบาดระลอก 2 ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
- ห่วงคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันหลังจากนี้คือเรื่องของ "คุณภาพสินทรัพย์" จากตัวเลขขณะนี้ ประเมินว่าหนี้ที่อยู่ภายใต้การปรับโครงสร้างและช่วยผ่อนผันโดยภาครัฐ ณ ไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ราว 21% ของสินเชื่อรวม (สินเชื่อรวมอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท) และในไตรมาส 2/2563 มีโอกาสที่อัตราส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 29.9% ของสินเชื่อรวม
“ระยะเวลาในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจะหมดลงในเดือน ต.ค. นี้ หากครบกำหนดเวลาแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น และลูกหนี้เหล่านี้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติ คุณภาพของสินทรัพย์ก็ไม่น่าจะมีปัญหามากนัก แต่ในทางกลับกันหากธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อได้ ธนาคารก็จะมีปัญหามากขึ้น ขณะเดียวกันหากครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องดูว่าจะมีมาตรการใหม่ออกมารองรับเพิ่มเติมหรือไม่ สถานการณ์ตอนนี้ทุกคนยังอยู่ในโหมดที่มีเครื่องช่วยหายใจอยู่ หลังจากนั้นต้องดูว่าธุรกิจจะกลับมาปกติหรือไม่”
- แนะเร่งแก้ปัญหาว่างงาน
นอกจากนี้ปัญหาการว่างงานเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้การช่วยเหลือ เพราะจะส่งผลต่อคุณภาพหนี้ด้วย โดยอาจจะเป็นนโยบายให้บริษัทคงสถานะงาน และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณกับบริษัท อย่างไรก็ดีนโยบายในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ทำให้รัฐบาลอาจต้องปรับโครงสร้างงบประมาณ
ขณะเดียวกันคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเกิดขึ้นได้ ซึ่งสำคัญกับมากกว่าการกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้ที่มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น นอกเหนือจากการเยียวยา ทั้งนี้ อาจจะใช้นโยบายภาษีเข้ามาช่วย โดยกำหนดให้ผู้มีเงินจับจ่ายใช้สอยก่อน ถึงจะได้สิทธิภาษีเพิ่มเติม
“ตอนนี้ทุกคนยังอยู่ในโหมดที่มีเครื่องช่วยหายใจ หลังจากนั้นต้องดูว่าธุรกิจจะกลับมาปกติหรือไม่” เชาว์ เก่งชน
- เอกชนขาดสภาพคล่องกว่า 1.7 ล้านล้าน
ด้าน นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เสียไป ทำให้ประเด็นหลักของวิกฤติในครั้งนี้คือ เราจะอดทนกันได้นานเพียงใด?
“จากการทำ Stress test ที่ผ่านมา ดูว่าบริษัทไทยต้องการสภาพคล่องรวมกันเท่าไหร่เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอด คำตอบคือ 1.7 ล้านล้านบาท และประมาณ 90,000 บริษัท กำลังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอยู่ในขณะนี้ ฉะนั้นแล้วปัญหาในครั้งนี้ การแก้ด้วยการกระตุ้นดีมานด์ซ้ำๆ อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่การช่วยเสริมสภาพคล่องเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า และหากปัญหาลากยาวเกินไป นโยบายช่วยได้ไม่เพียงพอ ทำให้ธุรกิจฟื้นตัวกลับมาที่เดิมไม่ได้ เศรษฐกิจก็อาจจะซึมยาวเป็น L shape ไปได้อีก 3.5 ปี”
- ‘กรุงศรี’ หั่นจีดีพีติดลบ 10.3%
ทั้งนี้ ทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบถึง 10.3% เพราะการท่องเที่ยวที่ยากจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 2.9% และเติบโต 4% ในปี 2565 ก่อนจะกลับมาที่เดิมได้ในปี 2566
“อีกหนึ่งปัญหาสำคัญของไทยคือ เรามีอาวุธ (นโยบายเศรษฐกิจ) ไม่พอ แม้จะมีกระสุน (เงินสำรอง) เยอะมาก ทำให้เมื่อเกิดปัญหา เรากลับกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ฉะนั้นการออกแบบนโยบายให้สามารถใช้กระสุนได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”
“การช่วยเสริมสภาพคล่องเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า หากปัญหาลากยาวเศรษฐกิจจะซึมเป็นรูปตัวแอล” สมประวิณ มันประเสริฐ
- ศก.หดตัวหนักสุดรอบ 150 ปี
ขณะที่ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ ประธานหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า วิกฤติในปีนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวแรงสุดในรอบ 150 ปี สำหรับวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา เช่นวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจหดตัวเร็ว แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นได้แรง ส่วนในรอบนี้เศรษฐกิจหดตัวเร็ว แต่อาจจะฟื้นตัวได้ช้า เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และประชาชนในระดับล่างได้รับผลกระทบค่อนข้างจะหนักกว่าที่ผ่านๆ มา
“นอกจากผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในประเทศแล้ว จะเห็นว่ายังมีปัจจัยอื่นกดดันอีก เช่น เงินบาทแข็ง (กระทบต่อการส่งออก) ขณะที่เศรษฐกิจของต่างประเทศก็อ่อนแอไม่ต่างกัน และอุตสาหกรรมหลักของไทยอย่างท่องเที่ยวและยานยนต์ ก็หดตัวอย่างมาก”
แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีโครงสร้างการเงินแข็งแรงขึ้นอย่างมาก แต่สิ่งที่สวนทางกันคือ ศักยภาพในการเติบโต ทั้งประชาชนในภาคแรงงานที่ลดลง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ เราประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพียง 9 ล้านคน จากปกติที่ราว 30 ล้านคน
“ปัญหา คือ เราจะออกจากปัญหาที่เผชิญอยู่ได้อย่างไร เพื่อสร้างโอกาสเติบโตในอนาคต คำตอบน่าจะเป็นการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง EEC ที่ได้เริ่มทำไปแล้ว (แต่ยังไม่เพียงพอ) รวมถึงการพัฒนาแรงงาน ยกระดับภาคธุรกิจให้เข้ากับเศรษฐกิจ 4.0 ที่ผ่านมาเราพึ่งพิงการท่องเที่ยวอย่างมาก ทำให้การฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนี้จะค่อนข้างช้า”
สำหรับวิกฤติในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแออย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย โดย 30% ของแรงงานในประเทศ ซึ่งอยู่ในภาคการเกษตร มีสัดส่วนต่อ GDP เพียง 8% ซึ่งต้องหาวิธีช่วยเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรหรือพัฒนาแรงงานไปสู่อุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น ขณะเดียวกันโครงสร้างภาษีที่เก็บจากคนต่างชาติไม่ค่อยจูงใจให้เข้ามาทำงานนัก ทำให้คนที่มีฝีมือเลือกจะไปทำงานในประเทศอย่าง ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ที่เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
“วิกฤติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ศก.ไทยอ่อนแออย่างไร สิ่งที่เห็นชัด คือ ปัญหารวยกระจุกจนกระจาย” บุรินทร์ อดุลวัฒนะ
- ‘อีไอซี’ ฟันธงฟื้นตัว ‘ยูเชฟ’
นายยรรยง ไทยเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า วิกฤติในครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง เพราะกระทบต่อทั้งดีมานด์และซัพพลายพร้อมๆ กัน แม้สถานการณ์จะดีขึ้นจากการเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ แต่ปัญหาเรื่องหนี้และความเปราะบางทางด้านฐานะการเงินของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่แทบจะเป็น 0%
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้ น่าจะเป็นแบบ U-shape เพราะไทยพึ่งพาต่างประเทศเยอะ ในขณะที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบพร้อมกันหมด โดยรวมแล้วประเมินว่า GDP ปีนี้น่าจะหดตัว 7.3% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 5.6%”
สำหรับการเข้ามาช่วยเหลือจากภาครัฐ ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าออกมาตรการได้รวดเร็ว แต่ในระยะถัดจากนี้ควรจะเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และต้องเป็นแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นกับกลุ่มที่ต้องการอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีกอาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจ และช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ที่เดือดร้อนได้รับการเสริมสภาพคล่อง
“โควิด-19 ทำให้เราเห็นจุดอ่อนของประเทศได้ชัดเจนขึ้น นั่นคือเรื่องเทคโนโลยี หากดูตัวอย่างประเทศจีน ซึ่งยกระดับเทคโนโลยีขึ้นมา ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวได้เร็ว ขณะเดียวกันทุกคนเห็นทิศทางเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเดินไปอย่างไร เห็นเป้าหมายเดียวกัน ฉะนั้นแล้วโจทย์สำคัญของไทยคือ จะทำให้ยังไงให้คนเกิดความเชื่อมั่น ซึ่งเราจำเป็นจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจน และการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน”
“แม้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นจากคลายล็อกดาวน์ แต่ยังต้องติดตามปัญหาหนี้และความเปราะบางของ SMEs” ยรรยง ไทยเจริญ
July 07, 2020 at 05:01PM
https://ift.tt/3gwoNaH
กูรูชี้เศรษฐกิจวิกฤติสุดรอบ '150 ปี' ห่วงเอกชนขาดสภาพคล่องหนัก - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กูรูชี้เศรษฐกิจวิกฤติสุดรอบ '150 ปี' ห่วงเอกชนขาดสภาพคล่องหนัก - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment