คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3590 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน
ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน
เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในวังวนแห่งพายุเฮอริเคน ที่น่าจะกลายเป็นจุดเหวี่ยงครั้งสำคัญที่คนไทยทุกคนจะต้องเผชิญ และอยู่กับมันให้ได้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวลงมามากถึง 4.9% ในปีนี้ เป็นการปรับลดจากที่ได้ประมาณการในเดือนเมษายนว่าจะติดลบแค่ 3% เนื่องจากมีแนวโน้มที่วิกฤตการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงและฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้มาก
เศรษฐกิจอเมริกาจะติดลบ 8% สหภาพยุโรปติดลบ 10.2% เยอรมันนีติดลบ 7.8% ฝรั่งเศสติดลบ 12.5% เศรษบกิจญี่ปุ่นติดลบ 5.8% อังกฤษติดลบ 10.2% ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ติดลบ 3.7% อินเดียติดลบ 4.5%
IMF ยังระบุว่า การหดตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีนี้จะมีความรุนแรงมากที่สุดนับจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 หรือที่เรียกขานกันว่า Great Depression หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
“เกรท ดีเปรสชั่น” ลูกใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลกเป็นผลสืบเนื่องจากความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายประเทศพยายามฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั่วทั้งยุโรป อเมริกา จนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่สร้างความเสียหายออกไปในวงกว้างไปทั่วโลก ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกขณะนั้นลดลงฮวบฮาบกว่า 10%
เฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนั้น จีดีพีหดตัวราวกับนัดกันไว้มากมายถึง 16%
ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทั่วทั้งยุโรป อเมริกา ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นเพียงการสร้างภาพแก่นักลงทุนในแต่ละปีหุ้นมีราคาสูงขึ้นประมาณ 22% ดัชนีหุ้นสามัญเพิ่มขึ้นจาก 100 ใน ค.ศ. 1926 เป็น 225 ใน ค.ศ. 1929 ทำให้คนหันมาลงทุนในตลาดหุ้นมาก เพราะหวังผลกำไรในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเริ่มประสบปัญหาเพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง การกู้ยืมมีมากและอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ความต้องการในสินค้าเริ่มลดลง จนทำให้ผู้ประกอบการงดลงทุนเพราะเกรงว่าสินค้าที่ผลิตจะจำหน่ายไม่หมด
นักธุรกิจและนายธนาคารซึ่งไม่มั่นใจในตลาดหุ้น จึงพยายามเรียกคืนหนี้สินที่ปล่อยกู้ไปราคาหุ้นจึงดิ่งลงเรื่อยๆ จนตลาดหุ้นที่วอลสตรีท นครนิวยอร์ก ล้มลงเมื่อวันอังคารที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1929 เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่าอังคารทมิฬ (Black Tuesday)
ความเสียหายทางการเงินครั้งนั้น ไม่เพียงทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก จนธนาคารหลายพันแห่งต้องล้มลง และมูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ แต่ยังนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และขยายตัวไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาอั้นสั้นและกว่าจะฟื้นตัวทำเอาทุกคนจนลง
ย่ำแย่หนักขนาดนั้น ทว่า IMF กลับบอกว่า เกรท ล็อกดาวน์ ที่เกิดขึ้นรอบนี้ จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวลงอย่างมาก วิกฤตินี้จะทำให้จีดีพีของทั้งโลกตลอดช่วง 2 ปี ข้างหน้า จะสูญเสียไปมากถึงราว 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าเกรท ดีเปรสชั่นหลายเท่าตัว
IMF หน่วยงานที่ไม่ใช่พ่อ จึงได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาว่า จะติดลบราว -7.7%
ขณะที่ ธนาคารโลกและองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ก็ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวติดลบ 5.2% และ 6% ตามลำดับ
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบประมาณ -8.1%
คล้อยหลังจากนั้นคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งมี 3 องค์กรหลักเป็นสมาชิกคือ สมาคมธนาคารไทย-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-สภาหอการค้าไทย จึงได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงมาเป็น -5% ถึง -8% จากเดิม -3% ถึง -5%
ขณะที่ปรับลดกรอบประมาณการณ์การส่งออกของไทยลงมาเป็น –7% ถึง -10% (จากเดิม -5% ถึง -10%)
นอกจากนี้ กกร.ยังได้ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่เป็นดัชนีราคาสินค้าและบริการของไทยว่าจะติดลบ -1.0% ถึง -1.5%
การประเมินแบบนี้ของหน่วยงานสำคัญของโลกและของประเทศกำลังบอกเราว่าอะไร
ผมแปลไทยเป็นไทยให้คนในระดับชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้
ถ้ามีการประเมินว่า Gross Domestic Product:GDP ไทยจะเป็นบวก แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการเติบโตขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น แต่สิ่งที่อาจตามมาได้ คือ อัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นเช่นกัน เพราะเมื่อคนมีความต้องการซื้อกันมากขึ้น สามารถดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมาได้
แต่ถ้ามีการประเมินว่า Gross Domestic Product:GDP ไทยจะเป็นลบ แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัวเลง มีเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศลดลง
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ Gross Domestic Product เป็นขนาดเศรษฐกิจของประเทศที่วัดจากมูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศในแต่ละปีของประเทศ
จีดีพีทั้งโลกซึ่งเป็นมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่าอยู่ที่ 87,265,226 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ถ้าจีดีพีโลกหดตัวลง 4.9% หมายถึงว่าเศรษฐกิจทั้งโลกจะหายไปราว 4,275,996 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 132,555,878 ล้านบาท
เงินก้อนโตของโลกหายไปขนาดนี้ ไทยจะหนักขนาดไหน เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
ประเทศไทยมีขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)อยู่อันดับที่ 22 ราว 529,177 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,875,891 ล้านบาท แต่ถ้าคิดจากอำนาจซื้อโดยดูจากค่าครองชีพ เขาจะเรียกว่า GDP at Purchasing Power Parity (PPP) ซึ่ง จีดีพี at PPP ของประเทศไทยจะพุ่งขึ้นสูง 42 ล้านล้านบาท
การที่ไอเอ็มเอฟบอกเราว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะหดตัวลงติดลบ 7.7% นั้น หมายถึงว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะหดตัวลงจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 16,875,891 ล้านบาท เหลือเพียง 15,576,447 ล้านบาท มูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศหายไปถึง 1,299,443 ล้านบาท
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 8.1% นั้นหมายความว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงจาก16,875,891 ล้านบาท เหลือเพียง 15,508,943 ล้านบาท เงินในระบบเศรษฐกิจที่วัดจากมูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศหายไปร่วม 1,366,947 ล้านบาท
ครั้นพิจารณาจากรายได้ของการส่งออกที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าการส่งออกจะติดลบ 10.3% ขณะที่ กกร.ประเมินว่าการส่งออกของไทยจะติดลบ 7-10%หมายถึงว่าอะไร
ดูนี่ครับ ในปี 2562 ทั้งปี ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศ ได้เงินเข้ามาหล่อเลี้ยงผู้คนได้ทั้งหมดราว 246,245 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือตกประมาณ 7.7 ล้านล้านบาท
ถ้าการส่งออกหดตัวลง 7-10.3% หมายถึงเงินที่เข้ามาซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการจ้างงานในประเทศจะหายไป 539,000-793,100 ล้านบาท
แต่ถ้าเป็นไปตามที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะหดตัวติดลบ 10.3% การส่งออกติดลบ 16.1% หมายถึงว่ามูลค่าตลาดของสินค้า หรือบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตภายในประเทศหายไปร่วม 1,738 216 ล้านบาท และรายได้จากการส่งออกจะหายไปราว 39,645 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1,189,100 ล้านบาท
การปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ที่เป็นดัชนีราคาสินค้าและบริการของไทยว่าจะติดลบ -1.0% ถึง -1.5% มันกำลังบ่งบอกว่าระดับราคาสินค้าหรือบริการในห้วงระยะเวลาปีนี้จะหดตัวลงติดลบ 1-1.5% อำนาจการซื้อของผู้คนในประเทศจะลดลงต่อหนึ่งหน่วยเงินตราที่เคยซื้อหาได้จะลดลงร้อยละ 1-1.5
ไอ้การที่เงินเฟ้อติดลบ ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกว่า ภาวะเงินฝืด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง และการที่ราคาสินค้าเฉลี่ยในท้องตลาดอยู่ในภาวะที่ลดลง เป็นอาการที่บอกเราว่าภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้คนขาดกำลังซื้อ
สัญญาณนี้เกิดแล้วครับ เพราะในเดือนพฤษภาคมนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 3.44% ซึ่งเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือนนับจากเดือนก.ค.2552 ที่เงินเฟ้อลดลงมาติดลบ 4.4%
คอยดูตัวเลขเดือนกรกฎาคมว่าจะเป็นอย่างไร? เพราะถ้าติดลบต่อเนื่องกันเกิน 3 เดือน เขาว่า เงินฝืดครับ เงินฝืด
ภาวะฝืดเคืองที่มาจากรายได้การส่งออกที่หายไปตั้งแต่ 5 แสนล้าน 7 แสนล้านบาท ถึง 1.18 ล้านล้านบาท มันจึงทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศลดฮวบลงมาตั้งแต่ 1.3-1.7 ล้านล้านบาท
นี่ผมยังไม่นับรวมรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีการประเมินไว้เดิมว่า ปีนี้รายได้จากการท่องเที่ยวจะมีแค่ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 60% หรือลดลง 1.78 ล้านล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมกว่า 3.01 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 39.79 ล้านคน รายได้รวม 1.93 ล้านล้านบาท นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยอีก 166.84 ล้านคน/ครั้ง ทำรายได้ 1.08 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยแค่ 7-8 ล้านคน ก็บุญโขหัวพี่ไทยแล้วครับ
เงินที่มันหายไปจากระบบขนาดนี้แหละ ที่ทำให้เกิดการฝืดเคืองไปหมด....รับแรงกระแทกกันให้ดีๆ นะครับ
July 09, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/31Vbc8R
เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน - ฐานเศรษฐกิจ
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เศรษฐกิจฝืดเคือง...มาเยือน ประเทศเงินหายวับ 1.7 ล้านล้าน - ฐานเศรษฐกิจ"
Post a Comment