Search

ข้อเสนอแนะเศรษฐกิจ APEC - ไทยรัฐ

ekonomikesatu.blogspot.com

แม้จะยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด แต่สิ่งที่แน่นอนคือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ได้เผยแพร่รายงานคำแนะนำอันน่าสนใจ ที่กลั่นกรองมาจากการแบ่งปันข้อมูลระหว่างสมาชิก 21 ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) เสนอต่อรัฐมนตรีชาติเอเปกนำไปพิจารณา แจกแจงสิ่งที่ควรต้องทำทันที และการวางรากฐานในระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกัน หากเกิดสถานการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก

ข้อเสนอแนะระยะสั้นประการแรก รัฐบาลชาติสมาชิกควรยุติการกีดกันทางการค้าอย่างที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าประเภทอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตามด้วยการยอมรับคอนเซปต์ขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ในเรื่องการเปิดช่องทางเฉพาะหรือคอร์ริดอร์ เพื่อลดขั้นตอนการขนส่ง รวมถึงเพิ่มปริมาณการสำรองอาหาร สินค้าทางการเกษตร

ประการที่สอง ยึดมั่นต่อมาตรการที่ทำให้การส่งสินค้าข้ามพรมแดนเป็นไปโดยสะดวก อำนวยความสะดวกเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จำเป็น ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พร้อมการจำกัดความให้ชัดเจนว่า บุคลากรที่จำเป็นคือประเภทใด อาชีพใด (Essential) และที่สำคัญต้องจัดการเรื่องห่วงโซ่อุปทาน หรือกระบวนการต่างๆที่ทำให้เกิดสินค้าขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนอย่างข้อตกลงระหว่างนิวซีแลนด์และสิงคโปร์ วันที่ 15 เม.ย.

ประการที่สาม การสนับสนุนธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ที่วิธีแก้ปัญหาไม่มีทางได้สูตรตายตัว ควรมีการเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่ผู้ประกอบการดังกล่าว อำนวยความสะดวกทางการเงิน การเข้าถึงตลาด เทคโนโลยีที่จำเป็น ไปจนถึงการพาลุยตลาดสากลเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ซึ่งนั่นหมายถึง รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ จะต้องมีนโยบายการทำงานที่เข้าใจระบบข้อมูลดิจิทัลและการค้าขายทางดิจิทัลในขณะเดียวกัน พร้อมให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ตัวแทนมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพกลุ่มเอเปกในปีนี้ จุดประชุมรัฐมนตรีชาติสมาชิกเอเปกผ่านระบบออนไลน์เมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา (เอเอฟพี)

จากนั้นเมื่อถึงเวลาที่ผลกระทบระยะสั้นทางเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่ประเทศต่างๆจำเป็นต้องวางรากฐานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคงสภาวะไว้ตามข้อเสนอระยะสั้น ในเรื่องการเปิดตลาด ยกเลิกกีดกันทางการค้า และการทำให้เอ็มเอสเอ็มอีพร้อมรับธุรกิจดิจิทัลและสังคมไร้เงินสด

ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์มาแล้วเมื่อครั้งวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ว่าการที่ผู้นำโลกตกลงเปิดตลาด ไม่กีดกันการนำเข้า ส่งออก และการลงทุน เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ได้ช่วยให้ผลกระทบระยะยาวจากวิกฤติดังกล่าวสั้นกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งยังช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมเพื่อรับมือผลกระทบระยะยาวนั้น รัฐบาลประเทศต่างๆควรทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การการค้าโลก (WTO) คือให้เรื่องการเปิดตลาด การไม่กีดกันทางการค้า เป็นผลชี้วัดความสำเร็จของประเทศ และใช้โอกาสนี้ในการสร้างเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาคาร์บอน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆแก่โลกหลังโควิด-19

ข้อเสนอแนะต่อมา สมาชิกเอเปกควรจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานชั่วคราว ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่การแพทย์ ข้าราชการ และตัวแทนกลุ่มธุรกิจจากชาติเอเปก เพื่อแบ่งปันข้อมูลของแต่ละประเทศ ออกคำแนะนำและขั้นตอนการปฏิบัติในเรื่องการเปิดพรมแดน และการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย ไปจนถึงการวางเค้าโครงเพื่อการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เพราะแน่นอนว่า กรอบเวลาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน เนื่องด้วยมีความเป็นไปได้ที่ในแต่ละประเทศอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ทุกเมื่อรายงานของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ

เอเปกได้สรุปว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่มีชาติใดให้ทางออกอย่างชัดเจนได้ แต่เชื่อว่าการแชร์ประสบการณ์ระหว่างกันและกัน พ่วงด้วยการเปิดตลาด น่าจะเป็นคำตอบในระดับหนึ่ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็ถือว่าสอดคล้องกับบทความต่างๆของนักวิชาการ รวมถึงของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวแบบเครื่องหมายถูก คือเศรษฐกิจไถลลงเร็ว แล้วค่อยฟื้นอย่างช้าๆ แต่การฟื้นตัวก็จะขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของประชาชน ธุรกิจ และภาครัฐ ให้เข้ากับฐานชีวิตใหม่และการเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก

พนักงานฮ่องกงยืนจ้องมองร้านอาหารที่ว่างเปล่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในฮ่องกง ส่งผลให้รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการรักษาระยะห่างรอบใหม่ โดยห้ามลูกค้านั่งรับประทานในร้าน ทำได้แค่ซื้อกลับบ้านเท่านั้น (เอพี)

เพียงแต่งานนี้ อาจจะต้องทนเหนื่อยแบบหืดขึ้นคอกันหน่อย ทั้งภาครัฐ ไม่ว่ากระทรวงพาณิชย์เอย หน่วยงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอย ไปจนถึงภาคประชาชนและธุรกิจเอง ที่ต้องทำการบ้านเพิ่ม มองหาโอกาสใหม่ๆอย่างไม่ยึดติด ไม่ควรรอพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งส่วนตัวแล้วขอเสริมด้วยว่า อย่าเป็นคนจมไม่ลง และแพ้ไปก็สู้ใหม่ได้ครับผม.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

อ่านเพิ่มเติม...




August 02, 2020 at 05:02AM
https://ift.tt/318cco6

ข้อเสนอแนะเศรษฐกิจ APEC - ไทยรัฐ

https://ift.tt/3crAsVL


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ข้อเสนอแนะเศรษฐกิจ APEC - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.