ร่วมด้วยช่วยกัน ดร.ดอน นาครทรรพ สายนโยบายการเงิน ธปท.
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ข่าวที่ทำให้ผู้คนตื่นเต้นต้อนรับวันหยุดยาวพอดี คงหนีไม่พ้นรายงานการพบ
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 101 วัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจมากนัก เพราะผลสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พฤติกรรมการป้องกันตัวเองของคนไทยแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากาก การล้างมือ การรักษาระยะห่าง การระวังไม่เอามือไปจับหน้า จมูก และปาก หรือการกินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตัวเอง จริง ๆ แล้วอาจจะต้องบอกว่าเราโชคดีด้วยซ้ำที่อยู่กับตัวเลขศูนย์มาได้ถึง 100 วัน
นอกจากนี้ เรายังโชคดีซ้ำสองที่ผู้ติดเชื้อคนนี้เป็นผู้กระทำความผิดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ลองคิดดูว่าถ้าเขาไม่ได้เข้าเรือนจำ แต่ยังใช้ชีวิตตามปกติจะมีคนที่อาจจะติดเชื้อจากเขาอีกมากน้อยแค่ไหน
กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นนี้คงทำให้คนไทยหันกลับมาระวังป้องกันตัวเองกันมากขึ้น เพราะชี้ให้เห็นว่ายังมีเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในประเทศรอการตรวจพบ (ผู้ติดเชื้อกรณีล่าสุดไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ) ไม่นับว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราดูจะมีอาการหนักขึ้นทุกวัน ซึ่งอาจมีการนำเข้าเชื้อมาในประเทศได้ทุกเมื่อ ถึงตอนนี้ต้องนับว่าเราโชคดีต่อที่สามที่ผ่านมาหลายวันแล้วยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มเติม
มองอีกด้านหนึ่ง กรณีนี้เป็นโอกาสอันดีสำหรับภาครัฐในการสร้างความมั่นใจไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินควร เวลาเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศที่ไม่ใช่เลขศูนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ให้เกิดกระแสต่อต้านการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในอนาคต การสร้างความมั่นใจนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะต้องทำทุกอย่างให้กลับไปที่เลขศูนย์ แต่ต้องให้ประชาชนและธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศมั่นใจว่ารัฐบาล “เอาอยู่” ภายใต้การระบาดที่ไม่รุนแรง
เช่น พบผู้ติดเชื้อใหม่ไม่เกิน 30 คนต่อวัน (จริง ๆ แล้วผู้อยู่ในแวดวงสาธารณสุขบางท่านบอกว่าได้ถึงวันละ 100 คน แต่ผมขอยืนตัวเลขที่เคยคุยกับกรมควบคุมโรคเมื่อหลายเดือนก่อนไว้ก่อน) ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหมายความว่า ภาครัฐต้องมีระบบการตรวจเชื้อ ติดตาม และกักกัน (test, trace, isolate : TTI) ที่มีประสิทธิภาพ ผนวกกับขีดความสามารถในการรองรับและรักษาผู้ป่วยที่เพียงพอ
ในขณะเดียวกัน ประชาชนเองต้องเข้าใจว่า การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะเป็นศูนย์ไปตลอดเป็นความคาดหวังที่แทบเป็นไปไม่ได้ และต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องจ่ายไปเพื่อตอบสนองความคาดหวังนี้มีสูงมาก การดูแลตัวเองไม่ให้การ์ดตกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันตัวเองของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นอกจากจะช่วยให้เราสามารถอยู่รอดได้ภายใต้การระบาดอย่างอ่อน ๆ แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในวงกว้าง เป็นการลดทอนภาระของภาครัฐด้วย ซึ่งมีตัวอย่างในหลายประเทศว่า เขาสามารถอยู่ร่วมกับการระบาดอย่างอ่อน ๆ ของโควิด-19 ได้ โดยอาจจะมีการระงับกิจกรรมบางประเภทหรือการล็อกดาวน์บ้าง แต่ก็เป็นวงจำกัด และเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของประเทศ
ที่กล่าวมานี้ เนื่องจากในมุมมองทางเศรษฐกิจถ้าประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้
จนกว่าจะมีวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งคาดว่าคงเป็นปลายปีหน้า (วัคซีนอาจจะมีการค้นพบก่อน แต่ในระยะแรกคาดว่าจะจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ) เศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจจะเกิดอาการที่ว่า “โลกฟื้น ไทยไม่ฟื้น” โดยประมาณการเศรษฐกิจเมื่อเดือนมิถุนายนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ปี 2564 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 นั้น ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า ปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 16 ล้านคน สูงกว่าตัวเลขทางการของภาครัฐที่ออกมาภายหลังที่ 12 ล้านคน
ซึ่งถ้ากระแสการเปิดรับนักท่องเที่ยวยังเป็นไปอย่างในปัจจุบัน กระทั่งตัวเลข 12 ล้านคนก็อาจจะยังโลกสวยเกินไป โดยจากการประเมินคร่าว ๆ ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามาได้แค่ 3-4 ล้านคน เราอาจจะเห็นเศรษฐกิจปีหน้าติดลบเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะมีนัยอย่างมากต่อภาคธุรกิจและตลาดแรงงาน
แน่นอนว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามามีความเสี่ยงสูงมากที่จะนำเชื้อเข้ามาในประเทศ และถ้านำไปสู่การติดเชื้อจำนวนมาก เศรษฐกิจก็พังอยู่ดี กระทั่งหลังมีวัคซีนแล้วก็ไม่อาจจะวางใจได้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ประเมินว่าวัคซีนที่หลายประเทศกำลังพัฒนาขึ้น อย่างดีที่สุดจะคล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กล่าวคือ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% และต้องฉีดซ้ำเป็นระยะ ซึ่งหมายความว่าต่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาได้รับวัคซีนมาก่อนแล้ว ก็ยังอาจจะไม่สบายและแพร่เชื้อต่อได้
ดังนั้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะต้องทำอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายนอกประเทศ โดยในช่วงแรกอาจจะทำในรูปแบบของ sandbox โดยการจำกัดบริเวณท่องเที่ยว การคัดกรองและจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม เฉพาะประเทศ ก่อนที่จะขยายเป็นวงกว้างขึ้น
เท่าที่ทราบรัฐบาลกำลังพิจารณาข้อเสนอของเอกชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ว่าจะทำอย่างไรในรายละเอียดจึงจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ โดยมีความเสี่ยงที่เกิดการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด รวมถึงมีแนวการควบคุมสถานการณ์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ หากตรวจพบการแพร่ระบาดหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะไม่ต้องรีบร้อนในเดือนสองเดือนนี้ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ รัฐและประชาชนต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมีความเสี่ยง แต่ผมเชื่อว่าการเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นความเสี่ยงที่คุ้มผลตอบแทนและสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งการเปิด ๆ ปิด ๆ อาจเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นในการควบคุมสถานการณ์ อย่างไรก็ดี รัฐต้องไม่อ่อนไหวจนเกินไป ไม่ใช่ว่าปิดทุกครั้งที่พบการติดเชื้อขึ้นมา 1-2 เคส ซึ่งการจะไม่ให้เกิดกระแสการต่อต้านนักท่องเที่ยว ต้องกลับไปที่ความเข้าใจและความมั่นใจของประชาชนในความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของภาครัฐในภาวะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ใช่เลขศูนย์อีกต่อไป และถ้าประชาชนมีความมั่นใจก็จะช่วยให้ภาครัฐบริหารจัดการได้ง่ายขึ้นด้วย
ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงเดือนเมษายน แต่เส้นทางการฟื้นตัวกลับเป็นปกติยังอีกยาวนานพอสมควร และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางได้ตลอดเวลา ผมหวังว่าการฟื้นตัวจะไม่สะดุดลงเพราะเราไปยึดติดกับเลขศูนย์จนไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้
September 13, 2020 at 09:02AM
https://ift.tt/2RlUnxb
เศรษฐกิจไทยจะไปต่อ ต้องก้าวข้ามเลขศูนย์ - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เศรษฐกิจไทยจะไปต่อ ต้องก้าวข้ามเลขศูนย์ - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment