19 ก.ค.63-นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึงข้อเสนอการแปรงบ64 แนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจใหม่และทีมเศรษฐกิจใหม่ว่า ขนาดของเม็ดเงินลงทุนในงบประมาณปี 2564 นั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งระบบเศรษฐกิจมีความเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย ควรจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าเพื่อหยุดยั้งภาวะการล้มละลายของภาคธุรกิจและการเลิกจ้างจำนวนมาก นอกจากต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแล้ว ต้องให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมในการเข้าถึงด้วย เพราะขณะนี้ SMEs และธุรกิจขนาดย่อมยังไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือโดยรัฐมากนัก งบประมาณต้องตอบสนองความเดือดร้อนและความยากลำบากอย่างเหมาะสมอีกด้วย
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอเพื่อการแปรญัตติงบประมาณปี 2564 และแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจใหม่มีความจำเป็นต่อการหลีกเลี่ยงสภาวะการล้มละลายของระบบเศรษฐกิจ การบริหารงบประมาณและการออกมาตรการและนโยบายสาธารณะต่างๆเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ประคับประคองและฟื้นเศรษฐกิจต้องเป็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมหรือเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Policy Management) ไม่ใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่มีผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการเพิ่มการจ้างงานในระบบน้อย ทีมเศรษฐกิจใหม่ต้องไม่ใช้สามัญสำนึกของนักธุรกิจนักบริหารมาใช้ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเพราะไม่เพียงพอ ปรัชญาการบริหารเศรษฐกิจเพื่อฟื้นเศรษฐกิจบางครั้งต้องทำตรงกันข้ามกับการฟื้นฟูกิจการธุรกิจ เพราะสามัญสำนึกในการบริหารกิจการไม่เหมือนปรัชญาการบริหารเศรษฐกิจมหภาคเพื่อสาธารณประโยชน์
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มีข้อสังเกตต่อกรรมาธิการแปรญัตติงบประมาณ 72 รายการของงบประมาณปี 64 และมีข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้ข้อเสนอและข้อสังเกตที่หนึ่ง งบประมาณปี 2564 ที่ผ่านรัฐสภา 3.3 ล้านล้านบาทวาระแรกไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และยิ่งโครงสร้างงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประจำและสัดส่วนงบลงทุนอยู่ในระดับต่ำจึงไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานได้ การขยายบทบาทของรัฐในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการแต่ต้องมุ่งไปที่การลงทุนและโครงการทางด้านสวัสดิการเยียวยาประชาชนและภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบ ไม่เกิดการรั่วไหลของเม็ดเงินออกนอกประเทศจากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรืออุปกรณ์ต่างๆจากต่างประเทศที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เสนอจัดงบเพิ่มเติมให้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น
"ข้อเสนอและข้อสังเกตที่สอง หากรัฐบาลเห็นว่า ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองจากการแพร่ระบาดของโรค covid-19 แล้วมีความจำเป็นต้องปิดงานชั่วคราว (ไม่ใช่ปิดกิจการถาวร) รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ไม่ควรใช้เม็ดเงินจากกองทุนสิทธิประโยชน์การว่างงานในกองทุนประกันสังคมไปเรื่อยๆเพราะเป็นเงินสำรองที่ต้องนำไปใช้จ่ายดูแลผู้ประกันตนทั้งหมด 11.7 ล้านคนที่จะต้องใช้สิทธิในกรณีถูกเลิกจ้างหรือลาออกในอนาคต และเม็ดเงินที่มีอยู่จะไม่เพียงพอในอนาคต การที่คณะกรรมการประกันสังคมไม่ขยายเวลาการใช้กฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามข้อเรียกร้องของสมาคมโรงแรมและกลุ่มพันธมิตรหอการค้าร่วมต่างประเทศ จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เป็นการตัดสินใจที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
"เช่น ทำให้ลูกจ้างไม่ถูกเอาเปรียบกรณีหยุดงานชั่วคราว (นายจ้างต้องจ่าย75% ของค่าจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเอง ไม่ใช่มาเอาเงินจากกองทุนประกันสังคมไปจ่ายซึ่งลูกจ้างจะได้เงินเพียง 9,300 (62% ของ 15,000) การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันของสถานประกอบการบางแห่งก่อให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ผู้ที่ใช้สิทธิครบ 90 วันแล้ว ผู้ใช้สิทธิกรณีเหตุสุดวิสัยครบ 90 วันหากนายจ้างพิจารณาหยุดงานต่อลูกจ้างสามารถใช้สิทธิตามมาตรา 75 ได้ทำให้ได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การตัดสินใจไม่ขยายเวลาของกฎกระทรวงดังกล่าว จะช่วยทำให้กองทุนสิทธิประโยชน์การว่างงานไม่ประสบปัญหาทางการเงินและยังสามารถช่วยเหลือผู้ว่างงานต่อไปได้ในอนาคต ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายนมีการจ่ายประโยชน์ทดแทนการว่างงานทั้งกรณีเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างไปแล้ว 13,295 ล้านบาท การพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบสมานฉันท์ (Solidality Economy) ขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการจะทำให้ความขัดแย้งและแรงงานสัมพันธ์ดีขึ้นภายใต้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ"
ข้อเสนอที่สาม ปรับลดงบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท (หมายรวมถึงการพิจารณาตัดลดหรือเลื่อนการชำระเงินในงบผูกพันข้ามปีระหว่างปี 2563-2566 ของกระทรวงกลาโหมจำนวน 64,383 ล้านบาท) ปรับลดงบประมาณของ กอ รมน ลงครึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นให้เหลือเฉพาะงบที่นำไปรณรงค์ให้พลเมืองในชาติมีความรักความสามัคคีสมานฉันท์ปรองดองกัน สามารถปรับลดลงได้ 3,500 ล้านบาท ตัดงบประมาณศึกษาดูงานในต่างประเทศของทุกกระทรวง ทบวง กรมและรัฐวิสาหกิจลงมาไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ตัดลดงบประมาณการก่อสร้างอาคารหรือหน่วยราชการใหม่ๆที่ไม่จำเป็นและสามารถเลื่อนการดำเนินการออกไปก่อนได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ตัดลดงบประมาณก่อสร้างโครงการก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่ๆของกระทรวงคมนาคม หรือ การซ่อมสร้างสนามบินที่สามารถเลื่อนออกไปก่อนได้ ชะลอการสร้างอาคารใหม่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินในส่วนภูมิภาค เลื่อนการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างสนามบินนานาชาตินครปฐมออกไปก่อน ส่วนนี้ควรจะตัดลดได้ประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท นำเงินงบประมาณทั้งหมดที่ตัดลดไปใช้ในโครงการลงทุนทางด้านการบริหารจัดการน้ำ และ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทางเศรษฐกิจ สังคมและระบบสวัสดิการในชนบทเพื่อให้เกิดการจ้างงานไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วทั้งประเทศ
"งบประมาณเพิ่มเติมจากการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนจะทำให้ได้เม็ดเงินมาประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเน้นการใช้จ่ายไปที่โครงการขนาดเล็ก ขนาดกลางกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน เครือข่ายพัฒนาชุมชน และ การบริหารจัดการน้ำ และ ซ่อมสร้าง ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โครงการพัฒนาระบบชลประทานขนาดเล็ก ขุดลอกคูคลอง เป็นต้น"
ข้อเสนอที่สี่ ตัดลดงบประมาณค่าตอบแทนเงินเดือนของคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา ค่าตอบแทนของคณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ค่าตอบแทนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปต่างๆ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ควรปรับลดงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่า 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อโอนเงินมาเป็นผลตอบแทนเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 6 เดือนให้กับบุคลการทางการแพทย์ระดับปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ ทหารระดับปฏิบัติงาน และนำมาจัดจ้าง อาสาสมัครสาธารณสุขและผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ (ผู้ช่วยพยาบาล) ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมอย่างเร่งด่วนและให้พิจารณาลูกจ้างรายวันที่ต้องว่างงานจากการปิดสถานประกอบการมาช่วยทำงานได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ว่า เราต้องคาดหวัง ผู้มาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจที่มีวิสัยทัศน์และสามารถมองปัญหาในเชิงระบบ มีความรู้ความสามารถสูง มีประสบการณ์เพราะต้องมาบริหารและแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตการณ์และดูเหมือนว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา มุ่งแก้ปัญหาในระดับมหภาค เพราะหากมัวแต่พะวกพะวนกับปัญหาในระดับจุลภาคจะชักนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิผลต่อภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจและอาจหลงทางได้ และแน่นอนที่สุด ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์ มีความโปร่งใส ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคการลงทุนในการช่วยทำให้เราฝ่าวิกฤติได้ หากทีมเศรษฐกิจเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาค และ เป็นนักบริหารที่กล้าตัดสินใจ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ต้องทำงานเป็นทีม เพราะไม่มีใครเก่งคนเดียว รู้ทุกเรื่อง หัวหน้าทีมต้องเป็นคนที่ตัดสินใจเก่ง กล้าตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน มีการทำวิจัยมาก่อนเพื่อสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศในสถานการณ์ต่างๆ ฉากทัศน์ต่างๆในอนาคตซึ่งเรายังไม่มีรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
"เนื่องจากโลกเผชิญสภาวะ VUCA อย่างเต็มที่ในขณะนี้และอนาคต สภาวะ VUCA ซึ่งประกอบไปด้วย ความผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) ความคลุมเครือ (ambiguity) เราต้องการทีมงานเศรษฐกิจที่ทำงานเชิงรุก ปรับตัวเร็วและมีพลวัตสูง รัฐบาลก็ต้อง Put the right man on the right job หากรัฐบาล put the right man on the wrong job เขาจะไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เสียของ รัฐบาล put the wrong man on the wrong job ทำให้ประเทศเสียโอกาส เสียเวลา แต่ยังไม่เสียหายเท่ากับ put the wrong man and bad guys ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ประเทศจะมีปัญหามาก และ อาจจะเกิดการหาประโยชน์ในทางที่มิชอบจากตำแหน่งหน้าที่ได้ หรือ อาจจะเกิดการเอื้อประโยชน์และผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมาก ประชาชนและนักลงทุนจะไม่เชื่อถือ จะฟื้นเศรษฐกิจยาก เพราะการฟื้นเศรษฐกิจคราวนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน"
July 19, 2020 at 05:12PM
https://ift.tt/2OFGicI
'อนุสรณ์'เสนอการแปรงบ64แนวคิดการบริหารเศรษฐกิจใหม่ - ไทยโพสต์
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "'อนุสรณ์'เสนอการแปรงบ64แนวคิดการบริหารเศรษฐกิจใหม่ - ไทยโพสต์"
Post a Comment