การระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทยของเครือข่ายค้าปลีกชั้นนำในสหราชอาณาจักรหลังข้อกล่าวหาเรื่องการ "ทรมานลิง" ในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย คือ ตัวอย่างล่าสุดที่สะท้อนความตื่นตัวของประชาชนในสหราชอาณาจักร และชาติตะวันตกอื่น ๆ ในเรื่อง สวัสดิภาพสัตว์ สภาวะแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน
คนอังกฤษตื่นตัวกันมากในเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อน ทำอย่างไรที่จะลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ลดขยะ ลดการใช้พลาสติก ลดการเบียดเบียนสัตว์ โดยไม่จำเป็น
คนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกหันมาบริโภคอาหารจากพืช งดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์ เด็ดขาด หรือ เรียกว่า "ชาววีแกน" เพราะ มองว่า การการเลี้ยงสัตว์ใหญ่เพื่อบริโภคเนื้อและนมป็นการทำลายชั้นบรรยากาศโลก บวกกับเหตุผลทางสุขภาพและศีลธรรม
ส่วนกลุ่มคนที่ยังบริโภคเนื้อสัตว์อยู่ ก็คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ตั้งแต่ขณะเลี้ยงไปจนถึงขั้นตอนการเชือด ความยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงสวัสดิภาพและสวัสดิการของผู้คนที่อยู่ในกระบวนการการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ลูกเรือประมง คนงานแกะกุ้ง ไปจนถึงพนักงานของบริษัทต้องได้รับการดูแลตามกฎหมาย
กะทิ น้ำมะพร้าวสด และน้ำมันมะพร้าว จัดเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เด็ดขาด หรือ ชาววีแกน และผู้รักสุขภาพด้วยเป็นผลิตภัณฑ์จากพืช ที่มีคุณค่าทางอาหารมากและ ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนนมในบางโอกาส
เมื่ออาหารที่ถูกมองว่า "สะอาด" ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ มาถูกกล่าวหาว่า "ทรมานสัตว์" จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ ขึ้นมา
คนดัง และ ห้างใหญ่ ประสานเสียง
ทันทีที่ พีตา ออกมากล่าวหาอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย เมื่อวันที่ 3 ก.ค. และเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษยกเลิกขายสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวนำเข้าจากไทยโดยมีการระบุชื่อของตราสินค้าของน้ำมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าว น.ส.แคร์รี ไซมอนด์ส คู่หมั้นของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ ทวีตข้อความเสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ รวมทั้งคนดังอีกหลายวงการ และ ลอร์ด แซ็ก โกลด์สมิธ รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลนายจอห์นสันก็ออกมาร่วมลงชื่อเรียกร้องด้วย
ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เทสโก้ ห้างค้าปลีกที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในสหราชอาณาจักรบอกกับบีบีซีว่า "ยี่ห้อกะทิ และน้ำมะพร้าวของเราไม่ได้ใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิต และเราไม่ได้จำหน่ายยี่ห้อที่พีตาระบุไว้"
เซนส์เบอรี่ส์ เจ้าตลาดหมายเลข 2 บอกกับบีบีซีว่า เรากำลังตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่าย และสืบค้นไปที่ผู้จัดส่งสินค้าให้เราในประเด็นที่ซับซ้อนนี้
รอยเตอร์สรายงานด้วยว่า วอลมาร์ท ยักษ์ค้าปลีกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตแอสดา (Asda) ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ในสหาราชอาณาจักร ได้นำผลิตภัณฑ์ยี่ห้ออร่อยดีและชาวเกาะ ออกจากการขายชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนกรณีดังกล่าวกับซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้า
น้ำมันปาล์ม กับ ลิงอุรังอุตัง
ก่อนที่ไทยกลายเป็น "จำเลย" เรื่องลิงเก็บมะพร้าว อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียก็เป็น "ผู้ร้าย" ในสายตานักอนุรักษ์
น้ำมันปาล์ม เป็นสินค้าที่คนอังกฤษมองด้วยสายตาไม่ดี และต้องระมัดระวังต่อกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นี้ เนื่องจากข่าวลบหลายเรื่อง มีงานวิจัยระบุว่า กระบวรการผลิตน้ำมันปาล์มมีส่วนในการทำลายป่า จากสถิติพบว่า พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมระหว่างปี 1990-2008 เกิดจากรุกราน โค่น เผาป่า เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ทำลายพันธุ์ไม้อื่น ๆ และ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น อุรังอุตัง แรด ช้าง และ เสือ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในป่า
ธนาคารกลางของอังกฤษ เคยคิดที่จะใช้น้ำมันปาล์มมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิมพ์ธนบัตร 20 ปอนด์ ชนิดใหม่แทนไขมันจากสัตว์ที่ถูกกลุ่มศาสนาต่อต้าน แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อมีคำแนะนำจากงานวิจัยที่ระบุว่า "การเผาป่าเพื่อปรับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในระดับสูงในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ"
ปัญหาหมอกควันครั้งใหญ่ในสิงคโปร์เมื่อ มิ.ย. 2013 ก็เชื่อว่ามาจากหมอกควันของการเผาป่าครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียเพื่อการเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน
แม้ดูเป็นผู้ร้าย นักอนุรักษ์ก็ยังยอมรับว่าปาล์มน้ำมันมีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก ใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้ามากมาย ตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงเครื่องสำอาง เป็นพืชที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลงมากนัก เป็นกิจการที่สร้างงานให้ผู้คนนับล้าน
ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ผู้ผลิตสินค้าและห้างค้าปลีกในสหราชอาณาจักรจึงเลือกที่จะตรวจสอบกระบวนการตั้งแต่ต้นทางว่าน้ำมันปาล์มที่ซื้อมานั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่าตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน
แต่มีซูเปอร์มาร์เก็ตรายหนี่ง คือ ไอซ์แลนด์ หาญกล้าประกาศเมื่อ เม.ย. 2018 ว่า ภายในสิ้นปี 2018 สินค้าแบรนด์ของตัวเองทั้งหมดจะต้องไม่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม พอถึงเวลาจริง สามารถทำได้เพียง 450 ชนิดสินค้า เหลือสินค้าอยู่ 17 ชนิด ที่ไม่สามารถปรับสูตรได้ บริษัทจึงเอาชื่อของตัวเองออกจากสินค้านั้น ถูกสื่อของอังกฤษเสียดสี
"เราเชื่อว่าบรรดาอุรังอุตังที่ตกอยู่ในอันตราย จะพึงพอใจในสิ่งที่เราได้ทำไป" เซอร์มัลคอร์ม วอล์กเกอร์ ผู้ก่อตั้งไอซ์แลนด์ กล่าวไว้ทางเว็บไซต์ของห้าง
- ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษเลิกใช้น้ำมันปาล์มในผลิตภัณฑ์ตัวเอง ยอมกระแสประท้วงกรีนพีซ
- แอมะซอนตกอยู่ในอันตราย ทั้งตัดไม้ ไฟป่า และไวรัส
ลิงไทย กับ กะทิในอังกฤษ พีตากล่าวหาไทยว่าอย่างไร
พีตา ระบุในเอกสารแถลงข่าวที่ส่งถึงสื่อไทยว่า พีตาสำรวจพบลิงที่ถูกกังขังและบังคับให้ปีนเก็บมะพร้าวจากต้นรวม 50 สวน
ทีมงานของพีตาได้ถ่ายภาพลิงน้อยที่โดนล่ามด้วยเพียงโซ่เส้นสั้น และถูกบังคับให้วิ่งเป็นวงกลม ถูกจับใส่กรงแคบ ท่ามกลางฝนตก และบังคับปีนต้นไม้ในฤดูเก็บเกี่ยวมะพร้าวเพื่อทุ่นแรงคนงาน
พีตาเริ่มสืบสวนข้อเท็จจริงและไปเยี่ยมชม โรงเรียนฝึกหัดลิง 4 แห่ง และการแข่งขันลิงเก็บมะพร้าวอีก 1 แห่ง ซึ่งลูกลิงจะถูกพรากกับแม่ตั้งแต่เด็ก และถูกบังคับให้เก็บมะพร้าวจากต้นเพื่ออุตสาหกรรมมะพร้าวส่งออกไปทั่วโลก มีการสังเกตว่าลิงเหล่านั้นแสดงพฤติกรรมการทำซ้ำๆอันแสดงให้ถึงความเครียดที่ถาโถม
ลิงที่ถูกล่ามตัวหนี่งเครียดจนกัดหางตัวเอง ส่วนอีกตัวกรีดร้องอยู่บนเชือกอย่างควบคุมอารมณ์ไม่ได้พยายามจะวิ่งหนีการฝึกอันโหดร้าย และอีกตัวที่อยู่ในกรงเขย่ากรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยความสิ้นหวังที่จะหนีไปให้พ้นจากตรงนี้ ลิงเหล่านั้นยังถูกล่ามไว้กับยางรถยนต์เก่า ใกล้ถังขยะหรือไม่ก็ถูกจับใส่กรงที่มีขนาดพอตัวอย่างอึดอัด
"นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่สัตว์ที่มีไอคิวสูงและฉลาด ไม่ถูกสอนและให้เรียนรู้จักคำว่ามิตรภาพ ความเป็นอิสระ และทุกๆอย่างที่จะสามารถทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีได้" เอกสารของพีตาระบุ
องค์กรได้เรียกร้องให้บริษัทเจ้าของแบรนด์ อร่อยดี และชาวเกาะ ยุติการรับซื้อมะพร้าวจากแหล่งที่ทารุณลิง เพื่อที่จะตัดช่องทางและกดดันผู้ขายมะพร้าวเหล่านั้น
รัฐบาลไทยว่าอย่างไร
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงเมื่อ 6 ก.ค. ว่า ภาพที่ออกไปนั้นเป็นการเข้าใจผิด ไม่ได้เกิดจากการนำลิงเก็บผลผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมแต่เป็นการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นไปตามวิถีชาวบ้านหรือส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะปัจจุบันการนำลิงเก็บมะพร้าวเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมนั้น แทบจะไม่มี เพื่อสร้างความเข้าใหม่ จึงจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือเพื่อชี้แจงต่อไป
เขากล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญผู้ประกอบการและผู้ผลิต สินค้าแปรรูปที่ทำจากมะพร้าว (กะทิ) เพื่อหารือถึงกรณีนี้ในวันที่ 8 ก.ค. ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี
เขากล่าวด้วยว่า มีแผนที่จะเชิญเอกอัครราชทูตจากชาติยุโรปประจำประเทศไทย ลงพื้นที่ดูการผลิตและการเก็บมะพร้าว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องและตรงตามความเป็นจริง พร้อมเป็นการรักษาสัดส่วนและคงตลาดการส่งออก ไปในตลาดยุโรปและตลาดอังกฤษ
"ไม่น่ากระทบมาก"
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลผลิตมะพร้าวของไทยในปี 2562 มีปริมาณ 7.8 แสนตัน แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์กระทิอยู่ที่ 1.1 แสนตัน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะพร้าวที่ไทยส่งออกไปต่างประเทศมี 2 ชนิดด้วยกันคือกะทิและมะพร้าวอ่อน ส่วนของการส่งออกมีประมาณ 30 %ขณะที่ 70 %บริโภคภายในประเทศนอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการนำเข้ามะพร้าวจากประเทศอินโดนีเซียเนื่องจากผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ การส่งออกไปในตลาดยุโรปในปี 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาทโดย 18% ส่งออกไปตลาดยุโรปมีมูลค่า 2.2 พันล้านบาทและ 8% ส่งออกไปในตลาดอังกฤษมีมูลค่า 1 พันล้านบาท
ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในสหราชอาณาจักรขายผ่านช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กของชาวเอเชียถึง 70% ส่วนอีก 30% ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตระดับชาติ เขาเชื่อว่ายอดขายส่วนใหญ่จะ ไไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจาก เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นคนเอเชียซึ่งมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมและวิถีที่เกิดขึ้น "
July 03, 2020 at 02:00PM
https://ift.tt/2O044Qb
ระงับขายมะพร้าวไทย กับความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสวัสดิภาพสัตว์ในสหราชอาณาจักร - บีบีซีไทย
https://ift.tt/345xfZf
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ระงับขายมะพร้าวไทย กับความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสวัสดิภาพสัตว์ในสหราชอาณาจักร - บีบีซีไทย"
Post a Comment