Search

เปิดตัว “ศบศ.” ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาติ ประเดิม 4 มาตรการเน้น “ท่องเที่ยว-แรงงาน” - สยามรัฐ

ekonomikesatu.blogspot.com

ต้องบอกเลยว่าการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในเวลานี้ช้าไม่ได้ เพราะเวลานี้ทุกอาชีพกำลังลำบาก เงินทุนที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจแทบจะไม่เหลือ เพราะที่ผ่านมาได้ใช้ในการประคับประคองธุรกิจของตนเองให้ผ่านพ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพยายามที่จะจัดหาเงินทุนให้ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ!!!

ล่าสุด!รัฐบาลได้เปิดตัวทีมงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (โควิด-19) หรือ ศบศ. ซึ่งมี “ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะประธาน เพื่อให้การทำงานในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจต่าง ๆ แม้จะอยู่คนละพรรคการเมือง ก็สามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันได้

ทั้งนี้ “นายกรัฐมนตรี” กล่าวภายหลังการประชุมนัดแรกว่า มีหลายงานที่ต้องเร่งรัดในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ให้ฟื้นคืนจากช่วงต้นปี ทั้งไตรมาส 1 , 2 และ 3 โดยต้องทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ อย่างน้อยในช่วง 3-6 เดือน จะทำให้ดีเพื่อต่อลมหายใจ และหาช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแผนฟื้นฟูของรัฐให้ได้มากที่สุด อีกทั้งการตั้ง ศบศ.ขึ้นมาก็ยังมีคณะอนุกรรมการอีกหลายคณะ เพื่อช่วยการทำงานให้รวดเร็วขึ้นไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนบน ทั้งนี้ เมื่อได้กำหนดกรอบการทำงานแล้ว ฝ่ายปฏิบัติสามารถนำไปขยายและคิดต่อว่าจะเพิ่มเติมในส่วนใดได้บ้าง ก่อนนำกลับมาเสนอ ศบศ. ชุดใหญ่อีกทั้ง และย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสุขภาพควบคู่กันไป ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีในระดับที่น่าพอใจ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความเข้าใจของประชาชนร่วมด้วย

“นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้หารือเรื่องการจ้างงานทั้งในเด็กที่จบใหม่และคนที่ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการจัดสรรนำเงินจากงบประมาณจากพระราชกำหนดกู้เงิน 400,000 ล้านบาท มาช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ และเรื่องการท่องเที่ยว จะปรับปรุงโครงการเราเที่ยวไปด้วยกัน เพื่อให้ตอบโจทย์และกระตุ้นนักท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น รวมทั้งรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างชาติ เพื่อทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย

เช่นเดียวกับ “ปรีดี ดาวฉาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจเวลาพูดไปก็เหมือนกับว่าจะหาตัวเลขอื่นๆ มาเปรียบเทียบว่าดีหรือแย่กว่า ส่วนตัวไม่มีความหมายอะไร เพราะมันเป็นเหตุการณ์ในอดีตมาเทียบกับเหตุการณ์วันนี้ เช่น ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2563 ติดลบ 12.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยครึ่งปีแรก 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.9% สาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็พยายามไปโยงว่าดีกว่าปี 2540 ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ซึ่งติดลบ 12.5% ก็เป็นความรู้สึกที่ดี มีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ประกอบด้วย 1.ภาวะเศรษฐกิจหดตัว โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2563 หดตัวมากที่สุด มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การใช้จ่ายลดลง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวกระทบการส่งออก โดยในช่วงครึ่งปีหลังประเมินว่าทิศทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจะดีขึ้น

2.การว่างงานเพิ่ม โดยอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 745,000 คน หรือ 2% ของกำลังแรงงาน ขณะเดียวกัน มีแรงงานกว่า 2 ล้านคนที่ไม่ได้รับเงินเดือน แต่มีงานรอที่จะกลับไปทำ และ 3.เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด โดยเม็ดเงินงบประมาณรายจ่าย ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย และ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ทำให้ช่วงที่เหลือมีเม็ดเงินงบประมาณจำกัด การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีความคุ้มค่า สิ่งที่เกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เศรษฐกิจทุกประเทศหดตัวหมด

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้อัดฉีดเม็ดเงินโดยตรงเข้าสู่ระบบผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) รวมไปถึงประชาชนทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้มีรายได้ประจำ ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่อง มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเลิกจ้างและปิดกิจการ แม้ว่ารัฐบาลได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้นจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง และเพียงพอใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม SMEs ทั่วไป 2. กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ 3. กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท ผ่านทางธนาคารออมสิน ,บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

ขณะที่ “นายสมิทธ์ พนมยงค์” โฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมศบศ.ได้อนุมัติ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โดยจะมีการขยายสิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่เริ่มมาตรการจนถึงปัจจุบันมีการใช้สิทธิ์ที่พักไปประมาณ 5 แสนสิทธิ์ จากจำนวนทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ์ หรือเพียง 10% เท่านั้น ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้ขอขยายสิทธิ์ในมาตรการเพิ่ม ได้แก่ ขยายสิทธิ์จากคนละ 5 คืน เป็น 10 คืน และขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน ในส่วนนี้ต้องการให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในระยะไกลมากขึ้น จากเดิมที่มีการท่องเที่ยวในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตรจากภูมิลำเนาเท่านั้น จากเหตุผลดังกล่าวจึงต้องมีการปรับปรุงและขยายสิทธิ์เพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้อาจจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ หากททท.จัดทำรายละเอียดข้อมูลได้ทัน

2.มาตรการสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่กระทรวงการคลังดำเนินการแล้ว 3.มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้กระทรวงแรงงานเร่งทำมาตรการเสนอ โดยให้จัดทำเป็นแพลตฟอร์มฐานข้อมูลบิ๊กดาต้ามาเสนอต่อไป แต่เบื้องต้นเท่าที่มีการรวบรวมน่าจะมีตำแหน่งที่สามารถจ้างงานได้อีก 6-7 แสนตำแหน่ง รองรับจากปัจจุบันที่มีอัตราว่างงานอยู่ที่ 7.5 แสนตำแหน่ง ซึ่งจะมีการรวบรวมและจัดจ๊อบ เอ็กซโป เพื่อให้คนรับรู้

และ 4.มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ที่จะไม่ใช้วิธีการแจกเงินเหมือนมาตรการชิมช้อปใช้ แต่จะใช้วิธีดึงเอกชนที่พอมีกำลังเข้ามาช่วยเหลือแทน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีแผนกระจายรายได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก และกลุ่มหาบเร่แผงรอยให้เข้าถึงการช่วยเหลือ โดยรัฐบาลต้องเข้าไปช่วยดูเรื่องการทำคิวอาร์โค้ดให้เท่าเทียมกับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดให้มีการจัดทำรายละเอียดและเสนอศบศ.ในอีก 2 สัปดาห์ต่อไป

ทั้งหมดเป็นการนำร่องของศบศ.ในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในเวลานี้!

ซึ่งก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะแก้ไขได้ตรงจุดหรือไม่!?!

เพราะงานนี้บอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน!!!




August 22, 2020 at 12:10AM
https://ift.tt/3j1GMH9

เปิดตัว “ศบศ.” ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาติ ประเดิม 4 มาตรการเน้น “ท่องเที่ยว-แรงงาน” - สยามรัฐ

https://ift.tt/3crAsVL


Bagikan Berita Ini

0 Response to "เปิดตัว “ศบศ.” ลุยแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาติ ประเดิม 4 มาตรการเน้น “ท่องเที่ยว-แรงงาน” - สยามรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.