ณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรคนดังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า
“ว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้ แต่ไม่ไหวจริงๆ ในภาวะที่ลำบากขนาดนี้ มีความจำเป็นมากมายเฉพาะหน้า และเป็นปีโควิด-19
ทำไมต้องซ้ำเติมกันมากมายขนาดนี้ ที่สำคัญเงินกู้ทั้งนั้น และกู้มาแบบเต็มเพดาน
อย่าลืมครับทรัพยากรที่มีค่าที่สุด นั่นก็คือ คนไทย คุณดูแลคนไทยดีพอหรือยัง ถึงเอางบมหาศาลไปซื้อเรือดำน้ำ หรือถ้ามีเงินก็เอาไปคืนเงินกู้บ้างก็ได้ครับ
ฝากอ่านรายชื่อคนที่ยกมือให้ผ่านด้วยครับ ด้วยความเคารพ”
ผมหยิบยก “ความเห็น” ของคุณณวัฒน์ มาเป็นตัวแทนของความเห็นอีกหลายๆ ความเห็น ที่อ้างเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องโควิด-19 มาเป็นข้อรังเกียจเรื่องการขออนุมัติงบประมาณจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ของกองทัพเรือ
1) การขออนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อเรือดำน้ำ ไม่ใช่การทำชั่ว เขาขอ “เครื่องมือ” ไปทำหน้าที่ของเขา ในการปกป้องประเทศชาติ จะให้ก็ให้ จะไม่ให้ก็ไม่ให้ ไม่ต้องไปด่าเขา ให้เกียรติกันหน่อย เขาก็เป็นพลเมืองของประเทศ ดูแลประเทศไม่ต่างจากคนอื่นๆ สิทธิในการขอเป็นของเขา สิทธิในการอนุมัติ เป็นของกรรมาธิการ ทั้งชุดอนุ ชุดใหญ่ และสุดท้ายต้องไปอภิปรายลงมติกันในสภาผู้แทนราษฎร ทำไมต้องทำเหมือนกองทัพเรือเป็นอาชญากร เป็นโจรชั่ว จะปล้นชาติอย่างนั้นล่ะ
2) ก่อนมาขอ เขาก็สำรวจตรวจสอบตัวเองแล้วทำในสิ่งที่ต้องทำและควรทำแล้ว เช่น คืนงบประมาณปี 2563 ให้ เจรจาขอเลื่อนการชำระเงินซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม 2 ลำที่ว่านี้มารอบนี้ก็ไปปลดระวางเรือหลวงอย่างน้อย 2 ลำ ตัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจิปาถะ เพื่อจะของบประมาณก้อนนี้เขาพยายามแล้ว ไม่ใช่เห็นแก่ได้อยู่ฝ่ายเดียว
3) ข้อมูลจาก “ลูกทหารเรือ” คนหนึ่ง บอกว่า “ลูกทหารเรือขอพูดหน่อยครับ มันเป็นดีลตั้งแต่ปี’60 แล้วครับ นี่ก็ชะลอออกมาหนึ่งปีแล้ว ถ้าจะชะลออีกหน่อยก็เจรจากันไปไม่ว่ากัน แต่เอามาเล่นการเมืองนี่ไม่เข้าท่ากว่าครับ และปีหนึ่งใช้ 2-3 พันล้านบาทจากงบ ทร. ปีละสี่หมื่นกว่า นี่มันไม่มากนะครับ (อย่าลืมว่ากว่า 80-90% ของงบคือรายจ่ายประจำ) เค้าบริหารจัดการตัดลดส่วนอื่นๆ ไปไม่น้อย ยอมปลดระวางแม้แต่เรือหลักอย่าง รล.พุทธยอดฟ้าฯ และ รล.พุทธเลิศหล้าฯ เพื่องานนี้ ไอ้ยอดสองหมื่นล้านนั่นมันเจ็ดปีนะครับ ไม่น่าเอามาขยายความสร้างกระแสแบบนี้เลย
4) คุณณวัฒน์บอกว่า “...อย่าลืมครับทรัพยากรที่มีค่าที่สุด นั่นก็คือ คนไทย คุณดูแลคนไทยดีพอหรือยัง ถึงเอางบมหาศาลไปซื้อเรือดำน้ำ...” ถามว่าเรือดำน้ำ เขาซื้อไปดูปะการังเล่นกันหรือไงครับ เขาก็เอาไปดูแลคนไทยนั่นแหละ แต่ดูแบบเขา ตามหน้าที่เขา การเยาะหยามข้ามหัวกันแบบนี้ เป็นท่าทีที่ไม่สร้างสรรค์เลย
5) คุณณวัฒน์ยังมั่วเรื่อง “เงินกู้” ด้วย นี่คืองบประมาณปี 2564 ครับ ยังไม่มีการกู้อะไร ที่กู้ คือ งบประมาณแก้ไขปัญหาโควิด ที่ตอนนี้เอาไปทำอะไรมั่งเคยถามไหม? และกู้ยังไม่เต็มเพดาน แค่เกือบเต็ม (ฮา...)
6) ใครต่อใครต่างก็บอกว่า เศรษฐกิจย่ำแย่ ทำไมไม่เอาเงินมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน กรุณาตอบคำถามของผมต่อไปนี้นะครับ
6.1 เศรษฐกิจแย่ แก้ด้วยการ “ถมเงิน” ลงไปอย่างเดียวหรือ? บอกมาหน่อยซิว่า ตอนนี้งบประมาณในกระทรวงที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจรวมกันเป็นเงินเท่าไหร่ เทียบกับงบซื้อเรือดำน้ำแล้วเป็นยังไง?
6.2 เศรษฐกิจแย่ แย่ยังไง แย่ตรงไหนบ้าง (ไม่ได้บอกว่าไม่แย่นะ แค่อยากให้ช่วยกันชี้ให้ชัด) ในแต่ละส่วนนั้นต้องแก้ไขยังไง ใช้เงินเท่านั้นหรือ? เงินเป็นเครื่องมือเดียวในการแก้ไขหรือ?
6.3 แล้วเงินที่กู้มาจริงๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงบประมาณปี 2564 นั่น เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ใช้ไปเท่าไหร่แล้ว เกิดประสิทธิภาพอะไรขึ้นมาบ้าง
7) เราเอาแต่พูดๆๆๆๆ กันว่า เศรษฐกิจต้องแก้ แต่เคยคิดไหมว่า มันต้องแก้อย่างไร แล้วรัฐบาลเขาเอาจริงเอาจังไหมที่จะแก้ ใช้เงินไปเท่าไหร่ ใช้อย่างมีประสิทธิภาพไหม ผมคิดว่า “ประสิทธิภาพ” จะทำให้เราใช้เงินน้อยลง จนมีเหลือไปทำเรื่องอื่นได้ด้วย
8) ในขณะที่เราเห็นงบซื้อเรือดำน้ำว่าเท่าไหร่ แต่เราเห็นงบของกระทรวงอื่นไหม ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง เอาไปเท่าไหร่ เช่น งบกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้เท่าไหร่ จะเอาไปทำอะไร งบกระทรวงเกษตรฯ คลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แรงงาน สำนักนายกฯ คมนาคม ฯลฯ ไม่มีอะไรที่อีลุ่ยฉุยแฉกเลยจริงๆ หรือ เปิดหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ดูสิ เศรษฐกิจไม่ได้ แต่ยังเอางบไปซื้อโฆษณาอยู่เลย บางอย่างไม่ได้โฆษณาอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ของประชาชนเลย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย
9) ใช่ เรือดำน้ำ มันจับต้องได้ มันนึกออกว่า“ไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับฉัน” แต่อื่นๆ ล่ะ เกี่ยวอะไรไหม แก้เศรษฐกิจไหม เราก็ไม่ได้ไปตรวจสอบ ไม่ได้ถูกชี้นำให้รู้สึก เราจึงมาเกรี้ยวกราดกันกับเรือดำน้ำอย่างเดียว
10) ถนนหนทางจำเป็นไหม ในเวลาโควิดระบาด ที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำไมไม่บอกให้หยุดสร้างบ้างล่ะสนามบินทำทำไม ใครจะบินมา เอาเงินมาช่วยประชาชนก่อนสิ อย่าซ้ำเติมกัน คิดอย่างนี้ได้ไหม ก็ไม่ได้อีก เพราะมันสร้างเพื่อรองรับวันข้างหน้า “เรือดำน้ำ” ก็เช่นเดียวกัน มันต่างกันยังไง แค่คุณไม่ได้ใช้มัน ก็แปลว่ามันไม่จำเป็นกับประเทศอย่างนั้นหรือ
11) ผมจึงคิดว่า เรื่องนี้ควรได้รับการ “ชั่งน้ำหนัก” ด้วยเหตุผล ผสมไปกับการกระตุ้นให้ฝ่ายเศรษฐกิจใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานอย่างทุ่มเทจริงจังมากกว่าทุกวันนี้ ที่ทำงานเหมือนใช้ระบบ “ออโต้ ไพลอต” ที่ฝ่ายเศรษฐกิจยังไม่ได้ “ขับเคลื่อนงาน” อย่างเต็มที่ ปล่อยให้ระบบราชการทำงานเอง แล้วกลายเป็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจถูกใช้เป็นข้ออ้างไปเสียทุกเรื่อง
12) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกองทัพเรือเตรียมซื้อเรือดำน้ำที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ขณะนี้ประเทศเกิดวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนเกิดสงครามเช่นกันแต่เป็นสงครามทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น สงครามด้านการสู้รบด้วยอาวุธ ชะลอก่อนได้หรือไม่ งบประมาณที่จะซื้อเรือดำน้ำ จำนวน 22,500 ล้านบาท ควรนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจะถูกต้องตามสถานการณ์วิกฤติของประเทศ เช่น นำงบประมาณมาอุดหนุนด้านการศึกษาของลูกหลานเยาวชน ที่พ่อแม่ ครอบครัวต้องตกงาน
นายชวลิต กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่า การจะซื้อเรือดำน้ำหรือไม่ เป็นเรื่องของกรรมาธิการงบประมาณ เหมือนที่นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่า การจะแบน 3 สารพิษหรือไม่ เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าวเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามสถานการณ์ เป็นการลอยตัวเหนือปัญหา เมื่อนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รับผิดชอบกำกับนโยบายทุกกระทรวง ทบวง กรม ยามมีวิกฤติบ้านเมือง นายกรัฐมนตรีย่อมสามารถมอบนโยบายปรับ ลด งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศชาติ และประชาชนได้ตามสถานการณ์
“ถ้าจะให้กรรมาธิการ คณะกรรมการฯ หรือข้าราชการก็ดี ตัดสินใจในระดับนโยบายสำคัญของประเทศได้ ก็ไม่ควรมีนายกรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ ซึ่งในข้อเท็จจริง เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ควรกลับมาสู่ในโลกของความเป็นจริงที่นายกฯควรฟังเสียงประชาชนว่า วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชนขณะนี้ ประชาชนไม่ต้องการเรือดำน้ำ แต่ต้องการให้นำงบประมาณนั้นไปช่วยเหลือประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง”
นายชวลิต กล่าวอีกว่า นายกฯควรทบทวนนโยบาย โดยนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง จะบรรเทาเบาบางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลงไป ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย เราให้ความเคารพ ศรัทธา กองทัพเรือที่สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยมาตลอดอย่างยาวนาน หน่วยและบุคลากรในพื้นที่ทั่วประเทศของกองทัพเรือล้วนทำงานสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน
“การที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำ เป็นการให้ความเห็นโดยสุจริตใจ เป็นการให้ความเห็นในเชิงนโยบาย ซึ่งอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ไม่มีใครติดใจการปกป้องภารกิจ ปกป้องงบประมาณขององค์กรที่รับผิดชอบในฝ่ายปฏิบัติแต่อย่างใด ยังหวังที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์พัฒนาบ้านเมืองในแนวทางประชาธิปไตยร่วมกันในอนาคตสืบไป” สส.นครพนม พรรคเพื่อไทยกล่าว
13) สิ่งที่นายชวลิตกล่าว คือการย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยแสดง “ภาวะผู้นำ” ในเชิง “นโยบาย” โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ จะเห็นได้ชัดว่า แม้แต่งบประมาณปี 2564 ที่พิจารณากันอยู่ ก็เป็นการทำงบประมาณในภาวะปกติ ไม่ใช่ในภาวะวิกฤติ โดยที่ผู้นำก็ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไร จึงไม่มียุทธศาสตร์ในภาวะวิกฤติปรากฏขึ้น
ขอทำนายว่า ด้วยกระแสสังคม และความเปราะบางทางการเมืองของรัฐบาลในเวลานี้ ในที่สุด “เรือดำน้ำ”จะไม่ผ่านการอนุมัติงบประมาณ รัฐบาลจะเลือกใช้เงินตอบสนองความต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. และเลือกตั้งใหม่ก่อน ทั้งๆ ที่ใช้งบประมาณมากกว่า!!
August 26, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3hFtaRu
คอลัมน์การเมือง - เศรษฐกิจ...กับ 'เรือดำน้ำ' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คอลัมน์การเมือง - เศรษฐกิจ...กับ 'เรือดำน้ำ' - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"
Post a Comment