
แน่นอนว่า เมื่อ ‘การแพร่ระบาดครั้งใหญ่’ (Pandemic) ยังคงเป็น ‘ภัยคุกคามหลัก’ ที่ไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดได้ สิ่งที่จะตามมา...ก็หนีไม่พ้น ‘ความเปราะบาง’ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่อย่างหลังนั้นเป็น ‘ปัญหาเรื้อรัง’ ที่ยังแก้ไม่ตก
‘ฮ่องกง’ ไถลเข้าสู่ภาวะ ‘ตกต่ำ’ ทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบทศวรรษมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน และการประท้วงต่อต้านปักกิ่ง (จีน) อีกทั้งครึ่งปีแรกของปี 2563 นี้ ยังโดนซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกง ‘หดตัว’ อย่างรุนแรง โดย Capital Economic คาดการณ์ว่า ปี 2563 เศรษฐกิจฮ่องกงจะหดตัวถึง 8% เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้าว่าอาจหดตัวแค่ 4.5% และ ‘แย่กว่า’ ที่ ‘รัฐบาลฮ่องกง’ คาดการณ์ไว้ คือ 4-7%
ไม่เพียงเท่านั้น จากรายงานไตรมาส 2 ของ ‘รัฐบาลฮ่องกง’ เห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ ‘จีดีพี’ (GDP) ของ ‘ฮ่องกง’ ยัง ‘ดิ่งลง’ เลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ อยู่ที่ 9%, การส่งออกการบริการลดลง 46.6% จากต้นปี รวมถึงดัชนียอดขายปลีกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังอยู่ในภาวะตกต่ำ 24.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่า 32.9% ที่ทรุดตัวในเดือนพฤษภาคม

ทุกอย่างมีแต่ ‘ดิ่ง’ ลง ‘เศรษฐกิจฮ่องกง’ เผชิญความกดดันครั้งใหญ่ ผลักให้ ‘รัฐบาล’ ต้องงัด ‘แพ็กเกจ’ ออกมาใช้ ทั้งๆ ที่ ‘รัฐมนตรีกระทรวงการคลังฮ่องกง’ เตือนว่า “นั่นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาระยะยาว”
‘แพ็กเกจ’ ที่ว่านั้น ก็คือ ‘มาตรการเงินให้เปล่า’ หรือ ‘มาตรการแจกเงิน’ นั่นเอง อย่างบ้านเราที่แจก 5,000 บาท 3 เดือน แต่ที่ ‘ฮ่องกง’ รัฐบาลจะแจกเงินให้กับผู้พำนักถาวรรายละ 10,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 40,000 บาท หวังกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังอัดงบสนับสนุนค่าแรงลูกจ้าง 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานงบประมาณสนับสนุนการจ้างงาน
ส่วนเหตุผลที่ ‘รัฐบาลฮ่องกง’ ต้องอัดงบสนับสนุนค่าแรงลูกจ้าง นั่นก็เพราะอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า สูงถึง 6.2% และเป็นการเพิ่มสูงที่สุดในรอบ 15 ปีด้วย

เรียกได้ว่า ‘ฮ่องกง’ ณ เวลานี้ ตกอยู่ในสถานะ ‘เปราะบาง’ ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจอย่างปฏิเสธไม่ได้
การแพร่ระบาดที่ถล่มระลอกใหญ่ ทำให้ ‘รัฐบาลฮ่องกง’ ต้องเลื่อนเลือกตั้งสภานิติบัญญัติออกไป จนเกิดการต่อต้านจากนักการเมืองฝ่ายค้าน กล่าวหาว่า ‘ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง’ เป็นหนึ่งในฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจีน เพราะกลัวสูญเสียอำนาจการควบคุมสภาฯ แม้ทางรัฐบาลจะออกมาโต้กลับว่า อย่าเอาความขัดแย้งทางการเมืองมาขัดขวางการทำงาน
"ไวรัสโคโรนาไม่ได้ถูกกำจัดโดยการทะเลาะวิวาททางการเมือง"
และในทาง ‘สังคม’ ก็เปราะบางไม่ต่างกัน
เมื่อการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องใน ‘ฮ่องกง’ กำลังนำไปสู่ ‘วิกฤติทางสังคม’ การบังคับ ‘ปิดเมือง’ ให้ ‘อยู่บ้าน’ จำกัดขอบเขต ปิดธุรกิจไม่จำเป็น เหมือนอย่าง ‘จีน’ ทำไม่ได้โดยง่าย
กลายเป็น ‘ความท้าทาย’ ที่ ‘ฮ่องกง’ ต้องเผชิญ

แม้นักเศรษฐศาสตร์ภายใน ‘ฮ่องกง’ จะเห็นด้วยให้มีการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อย่างเข้มงวดมากกว่าเดิม เพื่อจำกัดขอบเขตการแพร่ระบาดที่อาจลุกลาม หรือการทำมาตรการอย่างครึ่งๆ กลางๆ เข้มงวดบางเวลาอาจทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งพรวดขึ้นมาอีก
เพราะอย่างที่บอกตอนต้นว่า สิ่งที่น่าห่วงของการแพร่ระบาดคลื่นลูกที่ 3 ของ ‘ฮ่องกง’ นี้ คือ มีผู้ป่วยติดเชื้อหลายรายที่ยากจะติดตาม ‘ต้นตอ’ หรือ ‘จุดกำเนิด’ และทางกระทรวงสาธารณสุขฮ่องกงคาดว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ผ่อนคลายก่อนหน้านั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่าเดิม
"หากแพร่ระบาดครั้งใหม่ยากเกินต้านทาน สิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลสุขภาพอาจไม่เพียงพอ และค่าครองชีพอาจพุ่งสูง"
คำเตือนจาก ‘ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง’ ที่เตรียมบังคับใช้ ‘มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม’ อย่างเข้มงวด ด้วยการห้ามชุมนุมมากกว่า 2 คนขึ่นไป, จำกัดการรับประทานอาหารในร้าน (มื้อเย็น-กลางวัน) และเดินทางขนส่งสาธารณะและสถานที่สาธารณะต้องสวมหน้ากาก
แต่ ‘ประชาชน’ กลับคัดค้าน...

"ต้องนั่งอยู่แต่บนเตียง ทำได้แค่เผชิญหน้ากับกำแพง"
ชาวฮ่องกงมากกว่า 2 แสนราย ต้องอาศัยภายในห้องแคบๆ ที่ซอยย่อย ไม่มีแม้แต่ห้องส้วมส่วนตัว หรือดีขึ้นมาหน่อยก็ต้องใช้ห้องครัว ห้องส้วม และนอนหลับภายในห้องเดียว ค่าเฉลี่ยอพาร์ตเมนต์อยู่ที่ประมาณ 500 ตารางฟุต ยิ่งห้องเล็กเท่าไร ข้าวของเครื่องใช้ก็ต้องเล็กลงเท่านั้น ทั้งตู้เย็นและพื้นที่วางของถูกจำกัด การสำรองอาหารก็เป็นไปได้ยาก
การที่บอกให้ ‘พวกเขา’ อยู่แต่บ้าน จึงเป็นดั่ง ‘ฝันร้าย’
‘รัฐบาลฮ่องกง’ จึงทำได้เพียงการขอร้องให้ ‘พวกเขา’ อย่าก้าวออกไปข้างนอกเป็นระยะเวลานาน
‘ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง’ ยอมรับว่า ระดับความน่าเชื่อถืออาจตกต่ำถึงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตก ดังนั้น จึงต้องรับฟังประชาชน และไม่ให้กระทบต่อการทำงานและชีวิตประจำวันของพวกเขา
"ต้องรักษาสมดุลระหว่างประชากรและเศรษฐกิจ ที่จะทำให้เกิดผลลัพท์อย่าง ทางออกทางสาธารณสุข เมืองยังเปิดอยู่ และยังคงเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ"

‘ทางออก’ ฟื้นเศรษฐกิจ ‘ฮ่องกง’
นอกจากการหารือ ‘ทราเวล บับเบิล’ (Travel Bubble) ร่วมกับ ‘มาเก๊า’ และ ‘กวางโจว’ ในการอนุมัติใบรับรองพลเมืองว่าปลอดไวรัสในการข้ามแดน
เคยได้ยิน ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก’ (Greater Bay Area) หรือไม่?
นี่ล่ะ...คือ สิ่งที่ ‘รัฐบาลฮ่องกง’ จะหยิบมาใช้ การจับมือระหว่าง ‘กวางตุ้ง, ฮ่องกง และมาเก๊า’ ผนึกกำลังเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจฮ่องกงได้รวดเร็วที่สุด
ปัญหาของ ‘ฮ่องกง’ ที่ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ก็ไม่ต่างกับบ้านเราที่เจอเฉกเช่นเดียวกัน หากแก้ปัญหาโรคระบาดเสร็จสิ้น ก็ไม่แคล้วจะต้องแก้เงื่อนที่พันกันเป็นปมปัญหาต่อไปอีก บางอันฝังรากลึกแก้ไม่ได้ในเร็ววัน แต่ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะปมปัญหาแต่ละอัน...ล้วนมาจากเชือกเส้นเดียวกัน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ:
August 04, 2020 at 05:30AM
https://ift.tt/39TAuGr
คลื่นลูก 3 เลวร้ายสุด ซัด "ฮ่องกง" เผชิญฝันร้าย เศรษฐกิจดิ่งเหว - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "คลื่นลูก 3 เลวร้ายสุด ซัด "ฮ่องกง" เผชิญฝันร้าย เศรษฐกิจดิ่งเหว - ไทยรัฐ"
Post a Comment