Search

ผลสำรวจซีอีโอบริษัทจดทะเบียน มองเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงในช่วงที่เหลือของปี - Businesstoday

ekonomikesatu.blogspot.com
  • ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO) พบว่า CEO ปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างชัดเจน โดยจากผลสำรวจล่าสุด CEO คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัว 5-10% จากคาดการณ์เมื่อต้นปีที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2-3% และ CEO ส่วนใหญ่คาดว่า 9 เดือนหลังของปี 2563 เศรษฐกิจจะแย่ลง
  • CEO คาดว่า ปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 คือ นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ราคาน้ำมัน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 การท่องเที่ยวที่หดตัวและกำลังซื้อที่ลดลงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทย
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมและผลประกอบการคาดว่าจะแย่ลง โดย 65% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าผลประกอบการปี 2563 จะหดตัว
  • การลงทุนในช่วง 9 เดือนหลังมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน โดยวางแผนชะลอการลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่งผลให้ 55% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามวางแผนขยายการลงทุนในประเทศเพื่อบริหารจัดการ Supply Chain ให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
  • CEO มีความวิตกกังวลสูงสุด 3 อันดับแรก เกี่ยวกับกำลังซื้อภายในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า  นโยบายการคลัง และการใช้จ่ายภาครัฐ อีกทั้งยังกังวลถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการเปิด-ปิดสถานที่การท่องเที่ยว

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (CEO Survey) : Economic Outlook ในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563” โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังแย่ลงในช่วงที่เหลือของปี และมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับสถานการณ์หลายด้าน

ผลสำรวจซีอีโอ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2563

CEO เปลี่ยนมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 จะแย่ลง และปรับลดประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2563 จาก “เติบโต 2-3%” (สำรวจในไตรมาส 1/2563) เป็น “หดตัว 5-10%”

- Advertisement -

CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 จะแย่ลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2563 จะหดตัว 5-10%

  • 92% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 จะแย่ลงบ้างถึงแย่ลงมาก ขณะที่ 8% คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจครั้งนี้กับผลการสำรวจครั้งที่ผ่านมา พบว่า CEO ปรับเปลี่ยนมุมมองในการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารโลก ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ภาพที่ 1)
  • 82% CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว ขณะที่ 5% ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยไม่เติบโต และ 13% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโต  โดยส่วนใหญ่หรือ 58% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวในช่วง 5-10%  และมี 4% ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่า 10% ซึ่งแย่กว่าผลการสำรวจครั้งก่อนที่ CEO ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2563 จะเติบโต 2-3% (ภาพที่ 2) และการปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยของ CEO ในครั้งนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัว 1%
ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 CEO คาดว่า นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ราคาน้ำมัน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 การท่องเที่ยว และกำลังซื้อภายในประเทศ

  • ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 พบว่า ปัจจัยอันดับแรกยังคงเป็นปัจจัยเดิมกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ นโยบายการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่อันดับ 2 และอันดับ 3 ได้แก่ ราคาน้ำมัน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ซึ่งปรับขึ้นมาจากอันดับ 8 และอันดับ 6 จากผลการสำรวจครั้งก่อน ตามลำดับ (ภาพที่ 3)
  • ด้านปัจจัยเสี่ยง พบว่า CEO คาดว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 ซึ่งขยับมาจากอันดับ 5 จากการสำรวจครั้งก่อน ขณะที่อันดับ 2 คือ การท่องเที่ยว และอันดับ 3 คือ กำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งลดลงจากอันดับ 1 และอันดับ 2 จากการสำรวจครั้งก่อน ตามลำดับ
แนวโน้มอุตสาหกรรม

CEO ส่วนใหญ่คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนของปี 2563 มีแนวโน้มแย่ลง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม 14% ที่คาดว่าจะดีขึ้น

  • 82% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดการณ์ว่า ภาวะอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 จะแย่ลงบ้างถึงแย่ลงมาก ขณะที่ 4% คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมจะไม่เปลี่ยนแปลง และ 14% คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมจะดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจครั้งก่อน และสอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (ภาพที่ 4)
  • เมื่อพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรมจาก “สัดส่วนจำนวนบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรมที่คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563” (ภาพที่ 5) พบว่า กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจการเงิน และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนกลุ่มเหล่านี้ คือ
    • บริษัทจดทะเบียนที่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดแฟชั่น เป็นบริษัทที่มีการปรับการดำเนินงานหรือสายการผลิตตามความต้องการของตลาดในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 (Changing in production line)
    • บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสิ่งก่อสร้าง ทั้งในหมวดวัสดุก่อสร้างและหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (Thailand’s Transport Infrastructure Development Strategy)
    • บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่ได้รับประโยชน์จากความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัท (อาทิ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เป็นต้น) ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง COVID-19 (High demand for hygiene products)

แนวโน้มผลประกอบการ

CEO ส่วนใหญ่คาดว่าผลประกอบการในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 จะแย่ลงในทิศทางเดียวกันกับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม 35% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่า ผลประกอบการของบริษัทยังจะดีขึ้น

  • 77% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่า ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 จะ “แย่ลงบ้างถึงแย่ลงมาก” ขณะที่ 14% ผลประกอบการจะดีขึ้น และอีก 9% คาดว่าผลประกอบการจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งผลต่างจากการสำรวจครั้งก่อนที่ 59% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่าผลประกอบการจะไม่เปลี่ยนแปลงหรือดีขึ้น (ภาพที่ 6) อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า สัดส่วนของ CEO ที่คาดว่า “จะแย่ลงมาก” มีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 14% จาก 35% ในการสำรวจครั้งก่อน
  • เมื่อพิจารณาบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าผลประกอบการในช่วง 9 เดือนของปี 2563 มีทิศทางดีขึ้น พบว่าเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จาก 1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 2) นโยบายของภาครัฐ และ 3) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้าและบริการของบริษัทเพิ่มขึ้น อาทิ บริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตหน้ากากอนามัย/จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจจัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในการสร้างถนน/สร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงพลาสติก-ถุงถนอมอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายของบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (Online trading platform) ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศทั้งทางทะเลและทางอากาศแบบครบวงจร เป็นต้น และธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น
  • เมื่อสอบถามถึงอัตราการเติบโตของรายได้ในปี 2563 พบว่า 65% ของ CEO คาดว่ารายได้ในปี 2563 จะลดลงจากปีที่ผ่านมา และรายได้ในปี 2563 จะหดตัว (Negative growth rate) และอีก 35% คาดการณ์ว่ารายได้ในปี 2563 จะมีการเติบโต (Positive growth rate) ซึ่งตรงข้ามกับผลการสำรวจครั้งก่อนที่ 18% ของ CEO ที่คาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้จะหดตัว และ 82% คาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้จะเติบโต (ภาพที่ 7)
  • ในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่ารายได้ในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา พบว่า 16% ของ CEO คาดว่ารายได้ในปี 2563 จะเติบโตมากกว่า 6% ซึ่งพบว่าเป็นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ ธุรกิจเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต ธุรกิจเกี่ยวกับถุงพลาสติก ถุงถนอมอาหาร) และนโยบายของภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ถนน เขื่อน รถไฟฟ้าใต้ดิน นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายของบนแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การจัดจำหน่ายออนไลน์ การขนส่งถึงบ้าน การขนส่งระหว่างประเทศ) และและธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ที่ได้รับประโยชน์จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ 14% ของ CEO คาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตในอัตรา 3-6% และที่เหลือ 5% คาดการณ์ว่ารายได้ในปี 2563 จะเติบโตไม่เกิน 3% (ภาพที่ 8)

สำหรับกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่ารายได้ในปี 2563 จะลดลง พบว่า 22% ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่ารายได้ในปี 2563 จะหดตัวระหว่าง 1-3% (ภาพที่ 8) ขณะที่ 15% CEO ที่ตอบแบบสอบถามคาดว่ารายได้ในปี 2563 จะหดตัวมากกว่า 20% ได้แก่ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ ธุรกิจบริการต่างๆ ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจให้บริการจัดงานคอนเสิร์ต ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย ธุรกิจที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ออนไลน์ และหมวดธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ เป็นต้น

กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

ในช่วง 9 เดือนหลังของปี 2563 บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและให้บริการเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตแบบ New Normal โดยการปรับกระบวนการทำงานออนไลน์ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตและให้บริการ ขณะที่กลยุทธ์ด้านการตลาด CEO ให้ความสำคัญกับการปรับราคาสินค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การทำการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง และเปลี่ยนช่องทางในการจัดจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยประมาณ 3 ใน 4 ของ CEO ที่ตอบแบบสอบถามได้ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กรและชะลอการลงทุน อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนยังคงมีแผนลงทุนในการวิจัยและพัฒนา และมีแผนขยายการลงทุนเพื่อหา Supply Chain ในประเทศ




August 24, 2020 at 10:45AM
https://ift.tt/31ti6BH

ผลสำรวจซีอีโอบริษัทจดทะเบียน มองเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงในช่วงที่เหลือของปี - Businesstoday

https://ift.tt/3crAsVL


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ผลสำรวจซีอีโอบริษัทจดทะเบียน มองเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงในช่วงที่เหลือของปี - Businesstoday"

Post a Comment

Powered by Blogger.