3 กันยายน 2563
37
ผู้เขียนได้เขียนถึง Platform capitalism ไปแล้วในครั้งก่อน โดยเน้นไปที่รูปแบบและบทบาทที่เปลี่ยนไปของทุน
ในครั้งนี้จะพิจารณาอีกด้านหนึ่งคือ แรงงาน แม้ว่าคำนิยามว่าด้วยสถานะของคนทำงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างการเป็น independent contractor หรือ ผู้ประกอบการอิสระ หรือ แรงงาน ประเด็นคำถามก็ไล่เรียงไปตั้งแต่ บทบาทที่เพิ่มขึ้น ขนาดหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจแพลตฟอร์ม จำนวนแรงงานที่ทำงานอยู่ในแพลตฟอร์ม การเติบโตของมูลค่าหรือสัดส่วนของแรงงาน แรงงานเหล่านี้ทำงานในแพลตฟอร์มแบบเต็มเวลาหรือเป็นงานเสริม แรงงานเหล่านี้มีคุณลักษณะอย่างไรเช่น อายุเฉลี่ยเท่าไร ระดับการศึกษาสูงหรือต่ำ เป็นชายหรือหญิงมากกว่ากัน เหตุผลที่ผลักดันหรือจูงใจให้เลือกที่จะทำงาน ลักษณะหรือรูปแบบของงาน งานแบบใดที่เป็นงานของเพศชาย หรืองานแบบใดที่เป็นงานของเพศหญิง รายได้ สภาพการทำงาน การต่อรอง การรวมตัวกันของแรงงาน เป็นต้น
เบื้องต้นผู้เขียนพบว่า มีงานหลายชิ้นที่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจการแบ่งประเภทของงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นงานที่แรงงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้ในโลก(ภายใต้เงื่อนไขว่าแรงงานต้องเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีอุปกรณ์ และมีความรู้ด้านดิจิทัล) โดยไม่ต้องมีการพบปะกันระหว่างนายจ้างกับแรงงาน งานประเภทนี้จะเรียกว่า web-based platform งานดังกล่าวครอบคลุมงานที่เรียกว่า micro task เช่น การระบุภาพ การถอดเสียงจาก audio หรือวีดีโอ การแปล การกำหนด tag การตรวจสอบดูแลเนื้อหาในเวปส่วนงานอีกประเภทเป็นงานที่เรียกว่า location-based application เป็นงานที่แรงงานต้องทำงานในสถานที่ทำงานที่ตกลงกันกับนายจ้างผ่านคนกลางผ่านแอพพลิเคชัน(ซึ่งแรงงานอาจไม่ต้องมีความรู้ทางด้านดิจิตอลมากนัก) งานดังกล่าวครอบคลุมงานส่งอาหาร ส่งของ งานแม่บ้าน และงานบริการอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่างานทั้ง 2 รูปแบบมีรูปแบบและผลกระทบที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งประเภทจากรายได้ที่ได้จากแพลตฟอร์ม เป็นรายได้ที่ได้จากการทำงานแบบที่เรียกว่า labor platform และรายได้ที่ได้จากการให้เช่าสินทรัพย์ที่เรียกว่า capital platform
ในสหรัฐ JP Morgan Chase & Co.ทำการศึกษาความผันผวนของรายได้กับการทำงานแพลตฟอร์มโดยใช้ข้อมูล financialtransactions ของลูกค้าและการสำรวจ ในช่วงปี 2012-2015 พบว่า 1% ของแรงงานในสหรัฐได้รับรายได้จากการทำงานแพลตฟอร์มในเดือนที่สำรวจ และ 4% ได้มีส่วนร่วมในการทำงานในแพลตฟอร์มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำงานในแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นรายได้หลักแต่เป็นรายได้เสริมของแรงงาน ในฐานะที่เป็นรายได้ที่ช่วยชดเชยรายได้หลักที่ลดลงเนื่องจากงานในแพลตฟอร์มมีลักษณะพิเศษคือเข้าออกได้ง่ายและรวดเร็วทำให้แรงงานสามารถหารายได้เพิ่มเติมเมื่อพบกว่ารายได้จากงานหลักที่ทำอยู่ลดลงหรือไม่เพียงพอทั้งนี้รายได้จากการทำงานของแรงงานในแฟลตฟอร์มถูกใช้เป็นรายได้ที่ชดเชยรายได้หลักที่ลดลงในขณะที่รายได้จากการให้เช่าสินทรัพย์เป็นรายได้เสริมให้กับรายได้หลัก
ILO ศึกษาแรงงานที่ทำงานใน web-based platform โดยสำรวจสภาพการทำงานของแรงงาน 3,500 คนจาก 75 ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในช่วงปี 2015-2017 ในรูปแบบของ micro-task platform ที่อยู่บน web-based เช่น การระบุภาพ การถอดเนื้อหาจาก audio หรือ วีดีโอ การแปล การกำหนด tag การตรวจสอบดูแลเนื้อหา จากสถานที่ใดก็ได้โดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผลการสำรวจพบอายุเฉลี่ยของแรงงานคือ 33.2 ปี มีสัดส่วนเพศชายมากกว่าเพศหญิง คือในแรงงาน 3 คนเป็นเพศชาย 2 คน แต่ในประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนของแรงงานชาย 4 คนในแรงงาน 5 คน 37% ของแรงงานมีการศึกษาระดับปริญญาตรี 57% จบมาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย 56% ทำงาน crowdwork มากกว่า 1 ปี โดยมี 2 เหตุผลหลัก คือเพื่อหารายได้เสริมจากงานอื่นที่ทำ และชอบที่จะทำงานที่บ้าน โดย แรงงานหญิงให้เหตุผลว่าต้องทำงานจากที่บ้านเพราะติดภารกิจในบ้านมากกว่าแรงงานชาย
แรงงานเหล่านี้มีรายได้ฉลี่ย 4.43 US$ ต่อชั่วโมง แต่เมื่อนำเอาเวลาที่แรงงานใช้ในการค้นหาหรือเฝ้าดูงานในเวปด้วยแล้วแรงงานจะมีรายได้ 3.31US$ ต่อชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยทั่วไปในสหรัฐที่ 7.25 US$ ต่อชั่วโมง ทั้งนี้แรงงานในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชียกลางได้รับรายได้ต่อชั่วโมงมากว่าแรงงานในภูมิภาคแอฟริกา เอเชียและแปซิฟิก โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานจะใช้เวลา 20 นาทีในทุก 1 ชั่วโมงในการค้นหาและเฝ้ารองานที่จะทำแรงงานกว่า 32 % ระบุว่าการทำงาน crowdworkเป็นรายได้หลักของตนโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 59% ของรายได้ทั้งหมด โดยแรงงาน 36% ทำงาน 7 วันในสัปดาห์ 43% ทำงานช่วงกลางคืน และ 68% ทำงานช่วงเย็น ทำให้เวลาการทำงานของแรงงาน crowdwork ต่างจากการทำงานรูปแบบเดิม ทั้งนี้แรงงานหญิงต้องรวมงาน crowdwork เข้ากับงานดูแลครอบครัว
อย่างไรก็ตาม แรงงานหญิงดังกล่าวใช้เวลาในการทำงานน้อยกว่าแรงงานทั่วไปเพียง 5 ชั่วโมง โดยทำงานในช่วงเย็นและกลางคืนเป็นหลัก แรงงานที่มีงาน crowdwork เป็นงานหลักมีหลักประกันทางสังคมต่ำแต่แรงงานที่ทำงาน crowdwork เป็นงานเสริม อาศัยหลักประกันฯจากงานหลัก หรือหลักประกันฯของสมาชิกคนอื่นในครอบครัว หรือจากหลักประกันถ้วนหน้าจากภาครัฐแทน นอกจากนี้ยังพบการทำงานในแพลตฟอร์มเป็นการสื่อสารด้านเดียวโดยแรงงานจะถูกให้คะแนนความพึงพอใจจากลูกค้าแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้แรงงานรู้สึกคับข้องใจจากการถูกเลิกจ้างหรือปฏิเสธที่จะจ่ายค่าจ้างและแรงงานไม่สามารถหาช่องทางในการต่อรองได้
ในส่วนการศึกษาในไทยมีงานศึกษาของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ในเรื่องรูปแบบใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซด์ส่งอาหารที่กำกับ โดยแพลตฟอร์มและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มและผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในไทย ซึ่งงานทั้ง 2 ชิ้นเป็นการศึกษาแรงงานแบบ location based เป็นหลัก แต่เป็นการศึกษาด้านรายรับจากทั้ง labor และ capital platform
ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกำลังเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ทวีบทบาทและส่งผลต่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของทุน การแข่งขัน รวมถึงการจ้างงาน และวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทำให้พื้นที่ภายในและนอกบ้าน เวลาการทำงานและพักผ่อนเลือนออกจากกัน ส่งผลให้ภาครัฐต้องแสวงหาแนวนโยบายให้สอดรับไปกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ผู้เขียนกลับพบว่าปัญหาสำคัญคือ การขาดข้อมูลขนาดใหญ่ในมิติต่างๆ ของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งก็อาจจะสืบเนื่องจากเหตุผลว่า ข้อมูล ถือเป็นความลับทางธุรกิจหรือปัจจัยการผลิตที่สำคัญ จึงเข้าถึงได้ยากและไม่ได้รับการเปิดเผย ทำให้ในการศึกษาแต่ละครั้งผู้วิจัยต้องทำการสำรวจและสัมภาษณ์แรงงานกลุ่มเล็กๆ เพื่อหาข้อมูลต่างๆ เอง การขาดข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้ยากที่จะเห็นภาพรวมพื้นฐานของเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มในไทย โดยไม่ต้องกล่าวถึงมิติที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น มิติทางด้านเพศสภาพ การแสวงหาเลือกอื่นๆ เพื่อต่อกรกับทุนผ่านplatform cooperativismที่ทำให้เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปันที่แท้จริงบนรากฐานของประชาธิปไตยของเทคโนโลยีแบบดิจิตัล
โดย...
กุลลินี มุทธากลิน
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นรชิต จิรสัทธรรม
September 03, 2020 at 04:11AM
https://ift.tt/3jIzxo6
แรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม | มุมมองบ้านสามย่าน - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/3crAsVL
Bagikan Berita Ini
0 Response to "แรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม | มุมมองบ้านสามย่าน - กรุงเทพธุรกิจ"
Post a Comment